Technology

ซอฟต์แวร์ (Software) คืออะไร ? มีประเภทอะไรบ้าง

February 8, 2024

ซอฟต์แวร์ (Software) คืออะไร ?  มีประเภทอะไรบ้าง

เกม โปรแกรม หรือแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ต่างก็เป็น ซอฟต์แวร์ ชนิดนึงที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากกับผู้ใช้งาน (User) ทุกคนในชีวิตประจำวัน ด้วยการตอบสนองความต้องการไม่ว่าจะเป็นการสร้างความบันเทิงหรือแก้ใขปัญหาต่าง ๆ เราจะอธิบายเกี่ยวกับที่มาที่ไป ประเภท และยกตัวอย่างของซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจหรือองค์กร เพื่อให้คุณเข้าใจกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้นี้กันครับ

ซอฟต์แวร์ (Software)

ซอฟต์แวร์ คืออะไร

ซอฟต์แวร์ (Software) คืออะไร

ซอฟต์แวร์ (Software) คือ โปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่ใช้สั่งงานเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ให้ทำงาน เปรียบเสมือนตัวกลางที่นำพา user ให้เข้าไปถึงในระบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซอฟต์แวร์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ควบคุมคอมพิวเตอร์ให้สามารถดำเนินการไปตามคำสั่งที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้

ที่มาของคำว่า “ ซอฟต์แวร์ ”

คำว่า Software (ซอฟต์แวร์) นั้นเป็นการสร้างคำใหม่จากคำว่า Hardware (ฮาร์ดแวร์) เกิดขึ้นครั้งแรกโดย John W. Turkey ในปี ค.ศ.1957 ที่เสนอให้คำว่า “ Software ” นั้นใช้สำหรับอธิบายส่วนที่ไม่สามารถจับต้องได้ ที่สั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงาน

ซอฟต์แวร์ แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง

โปรแกรมที่ทำมาใช้งานกับคอมพิวเตอร์นั้นมีมากมายเกินจะนับไหว ทำให้ต้องมีการแบ่งประเภทของซอฟต์แวร์ตามหน้าที่การทำงาน ออกมาได้ 2 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้

1. ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software)

ประเภทซอฟต์แวร์ระบบ

ซอฟต์แวร์ระบบ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับควบคุมและจัดการกับฮาร์ดแวร์ (Hardware) ด้วยการจัดสรรทรัพยากรของคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผล (CPU) หน่วยความจำ อุปกรณ์เชื่อมต่อ และอุปกรณ์เก็บข้อมูล เพื่อให้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ทำงานได้ดีบนคอมพิวเตอร์ สามารถแบ่งประเภทหลัก ๆ ออกมาได้ตามต่อไปนี้

  • ระบบปฏิบัติการ (Operating System) ซอฟต์แวร์ระบบสำคัญ ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ทั้งหมดบนคอมพิวเตอร์ และรวมถึงซอฟต์แวร์ประยุกต์บางโปรแกรม เปรียบเสมือนตัวกลางที่ให้ user สามารถสั่งการคอมพิวเตอร์ผ่านระบบปฏิบัติการได้ เช่น การสั่งให้เปิดโปรแกรมกับการปิดเครื่อง ส่วนของระบบปฏิบัติการที่อาจรู้จักกันดีหรือเคยผ่านตากันมาบ้าง ได้แก่ Windows , Linux , MacOS รวมถึง iOS และ Android ด้วยครับ
  • ตัวแปลภาษา (Language Translator) ซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับแปลภาษาโปรแกรมระดับสูง เช่นภาษา C , Java หรือ Python ให้เป็นภาษาที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและประมวลผลได้
  • โปรแกรมอรรถประโยชน์ (Utility Program) ที่ใช้สำหรับช่วยให้การทำงานของระบบปฏิบัติการมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น โปรแกรมบีบอัดไฟล์ โปรแกรมป้องกันไวรัส โปรแกรมสำรองข้อมูล โปรแกรมค้นหาไฟล์ และอื่น ๆ

2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software)

ประเภทซอฟต์แวร์ประยุกต์

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ชนิดนึงของซอฟต์แวร์ ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานเฉพาะด้านใดด้านนึงตามความต้องการของผู้ใช้ ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ แต่จะอาศัยซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) เป็นพื้นฐานให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น โปรแกรมสำนักงาน ฐานข้อมูล เกม หรือโปรแกรมตัดต่อภาพ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนถือว่าเป็นโปรแกรมประยุกต์นั่นเอง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้

  • ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Packaged Software) เป็นซอฟต์แวร์ที่บริษัทเหล่านี้ได้สร้างขึ้นและวางขายทั่วไป สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานทั่วไปได้ แต่จะไม่ได้เน้นสำหรับงานใดงานหนึ่ง เช่น โปรแกรมประมวลคำ โปรแกรมนำเสนอ หรือโปรแกรมเล่นวิดีโอ
  • ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะ (Custom Software) เป็นโปรแกรมที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อใช้สำหรับงานเฉพาะด้านตามความต้องการ มักจะเป็นการจ้างบริษัท Software House หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์โดยตรง เพื่อผลิตซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมให้กับธุรกิจหรือองค์กร

4 ตัวอย่างซอฟต์แวร์ แนะนำ สำหรับธุรกิจ

ตัวอย่างซอฟต์แวร์(Software)เพื่อธุรกิจ

ยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีเข้ามาส่วนสำคัญกับธุรกิจ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร หรือ Enterprise Software เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละด้าน เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าคู่แข่ง เราขอยกตัวอย่าง 4 ซอฟต์แวร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อองค์กรดังนี้ครับ

1. ซอฟต์แวร์บริหารการขายสินค้าและบริการ (POS)

Point of Sale หรือ POS ซอฟต์แวร์สำหรับจัดการงานขายสินค้าและบริการ ด้วยการอำนวยความสะดวกในการบันทึกการขาย ควบคุมสต็อกสินค้า ออกใบเสร็จรับเงิน และรายงานการขาย เป็นต้น ซอฟต์แวร์ POS มักนิยมใช้กับธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร หรือธุรกิจบริการอื่น ๆ

  • ช่วยให้การขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ควบคุมสต็อกสินค้าได้อย่างแม่นยำ
  • ออกใบเสร็จรับเงินและรายงานการขายได้อย่างรวดเร็ว
  • เพิ่มโอกาสในการขาย

2. ซอฟต์แวร์วางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP)

Enterprise Resource Planning หรือ ERP ซอฟต์แวร์สำหรับวางแผนทรัพยากรต่าง ๆ ขององค์กร ด้วยความสามารถในการรวบรวมข้อมูลและกระบวนการทำงานต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นระบบเดียว ซอฟต์แวร์ ERP มักจะเลือกใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกระบวนการซับซ้อน

  • ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ
  • ปรับปรุงการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
  • เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ

3. ซอฟต์แวร์บริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM)

Customer Relationship Management หรือ CRM ซอฟต์แวร์สำหรับเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกค้าและเพิ่มยอดขาย ซอฟต์แวร์ CRM มักเลือกใช้กับธุรกิจที่เน้นบริการลูกค้า

  • ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้ามากขึ้น
  • สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
  • รักษาลูกค้าเก่า ดึงดูดลูกค้าใหม่
  • เพิ่มยอดขายและรายได้

4. ซอฟต์แวร์บริหารทรัพยากรบุคคล (HRM)

Human Resource Management หรือ HRM ซอฟต์แวร์สำหรับจัดการข้อมูลพนักงาน กำหนดค่าตอบแทน วางแผนพัฒนาทักษะพนักงานและประเมินผลการทำงาน ถือเป็นซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรที่สำคัญมาก เหมาะกับธุรกิจทุกขนาด

  • ช่วยให้การทำงานด้านทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพ
  • องค์กรสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
  • ลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล
  • เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารพนักงาน

บทสรุป

สรุปแล้ว ซอฟต์แวร์ (Software) ก็คือโปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่จับต้องไม่ได้ ที่ใช้ควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ให้สามารถทำงานได้ตามที่ต้องการ โดยซอฟต์แวร์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) กับซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) ที่จำแนกออกจากกันตามหน้าที่การทำงาน

ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ล้วนแต่เป็นซอฟต์แวร์ทั่วไปที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่เพื่อความก้าวหน้าขององค์กร Software ที่ซับซ้อนตามการใช้งานเฉพาะด้าน จึงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมหรือดีกว่าคู่แข่งทั่วประเทศได้นั่นเอง