Technology

เปรียบเทียบ 5 เว็บไซต์สำเร็จรูป ใช้ขายของออนไลน์ เลือกเจ้าไหนดี ?

April 24, 2024

เปรียบเทียบ 5 เว็บไซต์สำเร็จรูป ใช้ขายของออนไลน์ เลือกเจ้าไหนดี ?

เว็บไซต์สำเร็จรูป คือเครื่องมือที่ช่วยสร้างหน้าร้านออนไลน์ได้เร็ว ง่าย และประหยัดต้นทุน โดยมีให้เลือกใช้ทั้งแบบสมัครสมาชิกและแบบติดตั้งเอง (ขึ้นอยู่กับความต้องการ)

ก่อนเลือกใช้ ควรศึกษาและเปรียบเทียบคุณสมบัติ ฟีเจอร์ ราคาแผนของแต่ละเจ้าอย่างละเอียด ให้สอดคล้องกับความต้องการและงบประมาณ ซึ่งควรมองไปถึงการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ให้มั่นใจว่าเว็บไซต์สำเร็จรูปที่เลือกจะรองรับการขยายตัวและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น

ยุคที่ธุรกิจออนไลน์กำลังโตอย่างต่อเนื่อง หลายธุรกิจเริ่มมองหาวิธีที่จะขายสินค้าหรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ต หนึ่งในทางเลือกยอดนิยมคือการใช้ เว็บไซต์สำเร็จรูป เพราะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดร้านค้าออนไลน์เองได้ ไม่ต้องเขียนโค้ด

แต่ด้วยตัวเลือกที่หลากหลายในตลาด ทำให้เป็นเรื่องท้าทายในการเลือกเว็บไซต์สำเร็จรูปที่เหมาะกับธุรกิจ บทความนี้ พวกเรา Foxbith เลยพามาดูเว็บไซต์สำเร็จรูปชั้นนำทั้ง 5 แพลตฟอร์ม พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีข้อเสีย และปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนจะเลือกใช้กันครับ

เว็บไซต์สำเร็จรูป คืออะไร

เว็บไซต์สำเร็จรูป (Website Builder) คือ แพลตฟอร์มหรือเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างเว็บไซต์ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรู้ด้านการเขียนโค้ดหรือออกแบบเว็บไซต์มากนัก สามารถเลือกจากเทมเพลตสำเร็จรูป แล้วปรับแต่งองค์ประกอบต่าง ๆ ได้ อย่างสี ฟอนต์ รูปภาพ และเลย์เอาต์ ให้ตรงกับความต้องการ

เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมีเว็บไซต์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเพื่อการขายสินค้าออนไลน์ นำเสนอผลงาน หรือประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เพราะเว็บไซต์สำเร็จรูปมีฟีเจอร์ที่ครบครัน ตั้งแต่ระบบตะกร้าสินค้า ชำระเงิน การจัดการสินค้าคงคลัง และการจัดส่ง ช่วยให้เจ้าของบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ได้อย่างครบวงจร

ประเภทของเว็บไซต์สำเร็จรูป

เว็บไซต์สำเร็จรูปแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ตามลักษณะการให้บริการและการทำงานของระบบ ตามนี้

  • เว็บไซต์สำเร็จรูปแบบ SaaS (Software as a Service) เว็บไซต์สำเร็จรูปประเภทนี้ ผู้ให้บริการจะนำเสนอในรูปแบบซอฟต์แวร์ที่พร้อมใช้บนคลาวด์ สมัครสมาชิกและเข้าใช้งานผ่านหน้าเว็บเบราว์เซอร์ได้ทันที ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม มีข้อดีคือใช้งานง่าย ไม่ต้องดูแลด้านเทคนิค เพราะทางผู้ให้บริการจะจัดการทุกอย่างให้ ตั้งแต่เซิร์ฟเวอร์ ระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงการอัพเดตซอฟต์แวร์ให้
  • เว็บไซต์สำเร็จรูปแบบ Open Source CMS (Content Management System) โดยผู้พัฒนาจะสร้างระบบจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ขึ้นมา แล้วเผยแพร่โค้ดต้นฉบับ (source code) ให้ผู้ใช้งานนำไปติดตั้งใช้ฟรี แต่ต้องอัพโหลดโปรแกรมขึ้นบนเว็บโฮสต์ที่เช่าเอง สามารถแก้ไขปรับแต่งระบบได้อิสระมากกว่า เช่นการใช้ธีมที่พัฒนาเอง การติดตั้งปลั๊กอินเพิ่มเติม การเชื่อมต่อกับระบบภายนอก รวมถึงการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันทำงานได้ตามต้องการ

ข้อดีของการใช้ เว็บไซต์สำเร็จรูป

  1. ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องรู้ด้านการเขียนโค้ดหรือออกแบบเว็บไซต์มาก่อน
  2. ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับการจ้างนักพัฒนาหรือบริษัทออกแบบเว็บไซต์
  3. มีเทมเพลตและธีมให้เลือกหลากหลาย สามารถปรับแต่งให้ตรงกับแบรนด์และความต้องการของธุรกิจได้
  4. มีระบบที่จำเป็นสำหรับการขายของออนไลน์ครบครัน เช่นระบบตะกร้าสินค้า ชำระเงิน และการจัดส่ง
  5. ได้รับการอัปเดตและปรับปรุงสม่ำเสมอ มีทีมงานซัพพอร์ตให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาในการใช้งาน
  6. รองรับการเติบโตของธุรกิจได้ระดับหนึ่ง ตามแผนการใช้งานที่เลือก

ข้อเสียของเว็บไซต์สำเร็จรูป

  1. เว็บไซต์สำเร็จรูปมักมีข้อจำกัดในการปรับแต่งและควบคุมเว็บไซต์ เพราะต้องทำตามกรอบและเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม
  2. อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับฟีเจอร์พิเศษหรือการใช้งานขั้นสูง
  3. กรณีของเว็บไซต์ที่ให้บริการแบบครบวงจร (Hosted) หากผู้ให้บริการประสบปัญหาหรือปิดตัวลง อาจส่งผลกระทบต่อเว็บไซต์และธุรกิจได้
  4. การย้ายเว็บไซต์ไปยังแพลตฟอร์มอื่นทำได้ลำบาก เพราะข้อจำกัดในการส่งออกข้อมูลและความเข้ากันได้ของระบบ ต้องเริ่มสร้างใหม่หมด

เปรียบเทียบ เว็บไซต์สำเร็จรูป ยอดนิยมสำหรับขายของออนไลน์

ปัจจุบัน มีเว็บไซต์สำเร็จรูปสำหรับอีคอมเมิร์ซให้เลือกหลากหลายเจ้า แต่ละที่ต่างล้วนมีจุดเด่นแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของฟีเจอร์ ราคา ความยากง่ายในการใช้ การปรับแต่ง และความเหมาะสมกับประเภทสินค้าบริการ

อาจทำให้ผู้ที่สนใจเปิดร้านค้าออนไลน์เกิดความสับสน ไม่รู้จะเลือกใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปเจ้าไหน และเพื่อให้ตัดสินใจง่ายขึ้น เราได้รวบรวมข้อมูลของทั้ง 5 แพลตฟอร์มเว็บสำเร็จรูปชั้นนำ มาเทียบกันต่อไปนี้

1. Shopify

Shopify (shopify.com) เว็บไซต์สำเร็จรูปชั้นนำด้าน e-commerce ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะ มีฟีเจอร์ที่ครบครัน เช่นระบบจัดการสินค้าคงคลัง สร้างคูปองส่วนลด เชื่อมต่อกับระบบชำระเงินได้หลายประเภท พร้อมเทมเพลตร้านค้าให้เลือกมากมาย สามารถเชื่อมต่อกับช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram และ Amazon โดยตรงได้

แถมเว็บไซต์สำเร็จรูป Shopify ยังมีระบบ POS สำหรับการขายหน้าร้าน รวมถึงแอปพลิเคชันเสริมกว่า 2,000 แอป ให้เลือกใช้เพิ่มประสิทธิภาพร้านค้า สามารถจัดการได้ง่ายผ่านมือถือ แต่มีข้อเสียคือราคาเริ่มต้นสูงกว่าเจ้าอื่น

ราคาแผนของเว็บไซต์สำเร็จรูป Shopify

  • Basic - $25 USD/เดือน เหมาะกับผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่งเริ่มต้นขายของออนไลน์ มีสินค้าไม่มาก ต้องการระบบพื้นฐานราคาประหยัด
  • Shopify - $65 USD/เดือน เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มเติบโต มีทีมงาน และสินค้าหลากหลายขึ้น จะได้ฟีเจอร์เพิ่มเติมจากแบบ Basic 
  • Advanced - $399 USD/เดือน สำหรับธุรกิจที่โตมาระดับหนึ่ง ธุรกิจมีความซับซ้อน ต้องการระบบวิเคราะห์แบบกำหนดเอง ช่วยให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน
  • Plus - เริ่มต้น $2,300 USD/เดือน สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีหลายช่องทางขาย หลายสาขา โดยทำสัญญาระยะยาว 1-3 ปี ซึ่งจะได้รับการบริการระดับ Enterprise จัดการได้ครบวงจรในระบบเดียว

2. Wix

Wix (wix.com) เว็บไซต์สำเร็จรูปที่เด่นด้านความง่ายในการใช้งานและปรับแต่ง ด้วยระบบ Drag and Drop ที่ช่วยให้ออกแบบหน้าเว็บได้อย่างอิสระ มีเทมเพลตสำเร็จรูปกว่า 500 แบบให้เลือกใช้ ครอบคลุมเกือบทุกประเภทธุรกิจ พร้อมฟีเจอร์พื้นฐานสำหรับทำอีคอมเมิร์ซ ทั้งการจัดการสินค้า การชำระเงิน และการจัดส่ง รวมถึงเครื่องมือเพื่อการตลาดอย่าง Wix SEO, Wix Chat และ Wix Email Marketing เหมาะสำหรับมือใหม่ที่อยากมีร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง

แต่เมื่อเทียบกับ Shopify แล้ว  Wix ยังขาดฟีเจอร์ขั้นสูงบางอย่างที่จำเป็นสำหรับร้านค้าขนาดใหญ่ เช่นการจัดการภาษีและค่าธรรมเนียม ระบบคลังสินค้า หรือการเชื่อมต่อกับระบบ POS ทำให้ Wix เหมาะกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซขนาดเล็กถึงกลางที่เน้นความสวยดูดีและใช้งานได้ระดับพื้นฐาน โดยไม่เน้นฟีเจอร์เฉพาะทางมากเกินไป

ราคาแผนของเว็บไซต์สำเร็จรูป Wix (Website Plans)

  • VIP - $24 US/เดือน เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการให้เว็บมีคุณภาพสูงสุด ทั้งความเร็ว พื้นที่จัดเก็บ การสนับสนุนลูกค้า VIP รวมถึงฟีเจอร์พิเศษอื่น สำหรับเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่
  • Unlimited - $12 US/เดือน สำหรับเว็บไซต์ธุรกิจที่ต้องการฟีเจอร์ครบครัน อย่างพื้นที่เก็บข้อมูลไม่จำกัด แบนด์วิดท์สูง แผนนี้เหมาะกับเจ้าของธุรกิจออนไลน์ที่ต้องการขยายฐานลูกค้า
  • Combo - $8 US/เดือน เหมาะกับเว็บไซต์ส่วนตัวหรือธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการฟีเจอร์เพิ่มขึ้น เช่นพื้นที่จัดเก็บข้อมูล 2GB และแบนด์วิดท์เพิ่มขึ้น ยังเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นทำเว็บไซต์ 
  • Connect Domain - $4 US/เดือน สำหรับเว็บไซต์ขนาดเล็ก แสดงข้อมูลธุรกิจเบื้องต้น โดยใช้โดเมนตัวเอง

ราคาแผนของเว็บไซต์สำเร็จรูป Wix (Business and eCommerce Plus)

  • Business VIP - $35 US/เดือน สำหรับธุรกิจ eCommerce ขนาดใหญ่ที่มีสินค้าจำนวนมาก พื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่า 35GB บริการระดับพรีเมี่ยมตลอด 24 ชั่วโมง และต้องการใช้เครื่องมือการตลาดอย่าง Modalyst เต็มรูปแบบ
  • Business Unlimited - $25 US/เดือน เหมาะกับธุรกิจขนาดกลางที่ต้องการใช้ทุกฟีเจอร์ครบครัน สินค้ามีปริมาณพอสมควร ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลไม่เกิน 35GB และโฆษณา Google Ads
  • Business Basic - $17 US/เดือน สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หรือผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ มีสินค้าและไม่ต้องใช้พื้นที่มาก แผนนี้ราคาถูกสุดแต่ยังมีฟีเจอร์พื้นฐานให้ครบ 

3. WordPress (WooCommerce)

WordPress ระบบจัดการเนื้อหา (CMS) ที่ได้รับความนิยมสูงสุดปัจจุบัน ด้วยการปรับแต่งที่ทำได้เต็มที่ผ่านระบบปลั๊กอิน และธีมมากมาย ช่วยให้สร้างเว็บไซต์ได้ทุกรูปแบบ หลังติดตั้ง WordPress ผู้ใช้สามารถติดตั้งปลั๊กอิน WooCommerce ส่วนขยายสำหรับสร้างร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะได้

WooCommerce คือตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่ผู้ใช้เลือกไปจัดการร้านค้าออนไลน์ ด้วยฟีเฟอร์ที่ครบครันตั้งแต่การจัดการสินค้า ตัวเลือกสินค้า การตั้งค่าการจัดส่งและภาษี ไปถึงการเชื่อมต่อกับระบบภายนอกอื่น อย่างบัญชีธนาคาร บริการขนส่ง และซอฟต์แวร์บัญชี ซึ่งติดตั้งเพิ่มได้ผ่านปลั๊กอินที่มีให้เลือกหลายพันตัวบน WordPress

ราคาแผนของเว็บไซต์สำเร็จรูป WordPress (WooCommerce)

WooCommerce ดาวน์โหลดมาติดตั้งได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของ WordPress

4. Squarespace

Squarespace (squarespace.com) เว็บไซต์สำเร็จรูปที่เน้นการออกแบบด้วยดีไซน์ทันสมัย มีสไตล์ ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการความโดดเด่น ด้วยเทมเพลตที่ออกแบบโดยมืออาชีพให้เลือกกว่า 100 รูปแบบ ปรับแต่งได้ตามต้องการผ่านเครื่องมือ Style Editor โดยไม่ต้องแก้ไขโค้ด

มีระบบอีคอมเมิร์ซสำหรับสร้างร้านค้าออนไลน์ในตัว พร้อมฟีเจอร์ตั้งแต่การสร้างหน้าสินค้า ตั้งค่าตัวเลือกสินค้า จัดการสต็อก ไปถึงการเชื่อมต่อกับระบบชำระเงินอย่าง Paypal และ Stripe ทั้งยังรองรับการขายสินค้าดิจิทัล การสร้างบัญชีผู้ใช้ การกำหนดค่าจัดส่ง และการออกรายงานการขายที่เข้าใจง่าย สามารถเชื่อมต่อกับ Social Media ได้ ไม่ต้องพึ่งปลั๊กอินภายนอก

ราคาแผนของเว็บไซต์สำเร็จรูป Squarespace

  • Personal - ราคา 570 บาท/เดือน สำหรับเว็บไซต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ทำใช้เชิงพาณิชย์ ฟีเจอร์พื้นฐานครบถ้วน
  • Business - ราคา 820 บาท/เดือน เหมาะกับผู้ที่ต้องเพิ่มฟีเจอร์สำหรับขายสินค้าและบริการ
  • Commerce Basic - ราคา 970 บาท/เดือน เหมาะสำหรับธุรกิจที่เน้นการทำ transaction ด้วยฟีเจอร์ขั้นสูง
  • Commerce Advance - ราคา 1,750 บาท/เดือน แผนสำหรับธุรกิจออนไลน์ที่ต้องการใช้ฟีเจอร์ขั้นสูง เพื่อการขายและทำการตลาดเต็มรูปแบบ

5. Weebly

Weebly (weebly.com) เว็บไซต์สำเร็จรูปทางเลือกหนึ่งสำหรับสร้างร้านค้าออนไลน์ เน้นที่ความง่ายในการใช้งาน ผ่านระบบลากวางที่ช่วยให้สร้างหน้าเว็บได้รวดเร็ว ด้วยเทมเพลตที่มีให้เลือกกว่า 40 แบบ ที่แม้ไม่เยอะเท่าเว็บสำเร็จรูปอื่น ๆ แต่ก็ครอบคลุมเกือบทุกประเภทธุรกิจ

ส่วนของระบบอีคอมเมิร์ซในตัว Weebly นั้น มีเครื่องมือที่จำเป็นอย่างการเพิ่มสินค้า การจัดประเภทสินค้า การตั้งค่าจัดส่งและภาษี การจัดการสินค้าคงคลัง และการแสดงรีวิวจากลูกค้า พร้อมรองรับการชำระเงินผ่าน Stripe, Square, PayPal ฯลฯ รวมถึงมีแอปพลิเคชันเสริมให้ติดตั้งเพิ่มเติมบน Weebly App Center อีกด้วย ถึงอาจจะไม่หลากหลายเท่า Shopify หรือ WooCommerce แต่ก็เพียงพอสำหรับผู้เริ่มต้นที่มีสินค้าไม่กี่ประเภท

ราคาแผนของเว็บไซต์สำเร็จรูป Weebly

  • Free (ฟรี) - $0 มีพื้นที่ 500MB และโดเมนย่อย weebly.com สำหรับมือใหม่ที่ต้องการทดลองสร้างเว็บไซต์ หรือลองใช้เครื่องมือ
  • Personal - $10/เดือน (เมื่อจ่ายรายปี) มีพื้นที่ 1 GB โดเมนส่วนตัว พร้อมฟีเจอร์ที่มากขึ้น สำหรับบล็อกเกอร์ หรือฟรีแลนซ์
  • Professional - $12/เดือน (เมื่อจ่ายรายปี) พื้นที่เพิ่มเป็น 2GB ฟีเจอร์เพิ่มขึ้นจากแผน Personal อย่างป๊อปอัพฟอร์ม การ์ดเก็บเงิน และไม่มีแบนเนอร์โฆษณา เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก หรือร้านค้าออนไลน์ ที่ต้องการระบบอีคอมเมิร์ซพื้นฐาน
  • Performance - $26/เดือน (เมื่อจ่ายรายปี) พื้นที่เพิ่มเป็น 3GB สำหรับธุรกิจที่ต้องการระบบอีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบ พร้อมเครื่องมือการตลาด SEO ครบครันในตัว เน้นการเติบโตและขยายธุรกิจในระดับสากล

เว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี มีข้อจำกัดอะไรบ้าง

ทั่วไปเว็บไซต์สำเร็จรูปส่วนใหญ่จะมีแผนราคาฟรีหรือทดลองใช้ แต่มักมาพร้อมกับข้อจำกัดบางอย่าง ที่ควรพิจารณาก่อนเลือกใช้ ต่อไปนี้

  • เว็บไซต์สำเร็จรูปฟรีจะแสดงโดเมนย่อยของผู้ให้บริการ เช่น yourdomain.wixsite.com เป็นแบบซับโดเมน อาจดูไม่น่าเชื่อถือสำหรับลูกค้า
  • แพ็กเกจฟรีหรือทดลองใช้จะมีพื้นที่จัดเก็บ ประมาณ 1-2 GB กับแบนด์วิธที่จำกัด เหมาะกับไฟล์ขนาดเล็ก ๆ ไม่พอใช้สำหรับเว็บไซต์ขนาดใหญ่หรือมีผู้เข้าชมจำนวนมาก
  • ร้านค้าออนไลน์บนแพ็กเกจฟรีมักถูกจำกัดจำนวนสินค้ากับรายการที่สามารถเพิ่มได้ ไม่เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีสินค้าหลายรายการ
  • ฟีเจอร์ถูกจำกัด ไม่สามารถใช้ความสามารถขั้นสูงบางอย่างได้ เช่นส่วนลดการค้า คูปองส่งเสริมการขาย ระบบสมาชิก หรือรายงานการขายแบบละเอียด
  • ติดโฆษณาของผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปบนเว็บไซต์เรา อาจทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพ และไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์

ถึงแม้การใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปแบบฟรีทำร้านค้าออนไลน์จะช่วยประหยัดในระยะสั้น แต่สำหรับธุรกิจที่ต้องการความน่าเชื่อถือและใช้งานขั้นสูงแบบมืออาชีพ เราแนะนำให้เลือกแผนราคาแบบเสียค่าบริการ เพื่อให้ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพดีกว่าครับ

วิธีเลือกเว็บไซต์สำเร็จรูป เจ้าไหนดี ให้เหมาะกับธุรกิจ

การเลือกเว็บไซต์สำเร็จรูปให้เหมาะกับธุรกิจ คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจออนไลน์ดำเนินไปได้ราบรื่น เพราะแต่ละแพลตฟอร์มล้วนมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน ก่อนตัดสินใจเลือกใช้เจ้าไหน ผู้ประกอบการอาจลองพิจารณาตามปัจจัยตามนี้ดู

  1. พิจารณางบประมาณที่มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว เปรียบเทียบแผนราคาและฟีเจอร์ที่ได้รับจากผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปแต่ละราย เพื่อให้ได้บริการที่เหมาะกับธุรกิจ
  2. เลือกเว็บไซต์สำเร็จรูปที่เหมาะกับประเภทและขนาดธุรกิจ เช่น ถ้าร้านค้าออนไลน์ขนาดเล็กจะเหมาะกับ Weebly หรือ Wix ขณะที่ร้านค้าขนาดใหญ่ มีสินค้าจำนวนมาก อาจเลือก Shopify หรือ WordPress (WooCommerce)
  3. ดูฟีเจอร์และความสามารถของเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ธุรกิจต้องการ สำหรับทั้งตอนนี้และอนาคต เช่นระบบชำระเงิน การจัดส่งสินค้า คูปองส่วนลด แคมเปญส่งเสริมการตลาด หรือการเชื่อมต่อโซเชียลมีเดีย
  4. ถ้าต้องการเว็บไซต์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว อาจเลือกเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ปรับแต่งเชิงลึกได้ อย่าง WordPress หรือ Wix ขณะที่ Squarespace และ Weebly จะปรับแต่งได้น้อย แต่ใช้งานง่ายกว่า
  5. เลือกผู้ให้บริการที่มีทีมสนับสนุนดูแลลูกค้า พร้อมให้ความช่วยเหลือทั้งทางโทรศัพท์ แช็ท หรืออีเมล รวมถึงมีเอกสารและวิดีโอแนะนำการใช้งานที่เข้าใจง่าย ยินดีให้คำปรึกษา แม้เกิดปัญหาหรือข้อสงสัยเล็กน้อย
  6. ทดลองใช้งานฟรีก่อนตัดสินใจ เพื่อลองใช้งานเครื่องมือและประเมินความยากง่ายของระบบ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางกว้าง ๆ ในการเลือกให้เหมาะกับธุรกิจเท่านั้น จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยเฉพาะของแต่ละธุรกิจเพิ่มเติมด้วย เพราะการเลือกเว็บไซต์สำเร็จรูปไม่มีสูตรสำเร็จ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจความต้องการของตัวเองและธุรกิจอย่างชัดเจน ศึกษาข้อมูลแต่ละเจ้าให้ครบถ้วน และลองใช้งานจริงดูก่อน เพื่อตัดสินใจเองว่าจะเลือกใช้แพลตฟอร์มไหนดี

บทสรุป

สรุปแล้ว เว็บไซต์สำเร็จรูป (Website builder) เป็นเครื่องมือที่ช่วยผู้ประกอบการ ให้สามารถสร้างเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ได้ง่ายและเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องรู้ด้านการเขียนโค้ดหรือออกแบบเว็บไซต์มาก่อน มีให้เลือกใช้หลายแพลตฟอร์ม ทั้งแบบสมัครสมาชิกหรือแบบติดตั้งบนเว็บโฮสติ้ง ขึ้นอยู่กับความต้องการและความสามารถทางเทคนิคของผู้ใช้

ในการเลือกเว็บไซต์สำเร็จรูปให้เหมาะกับธุรกิจนั้น สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาทุกปัจจัยอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การเลือกเว็บไซต์ให้เหมาะกับประเภทและขนาดธุรกิจ งบประมาณ จำนวนสินค้า คุณสมบัติ ความสามารถการปรับแต่งขยายระบบ จนถึงการสนับสนุนลูกค้าที่ดี เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้แพลตฟอร์มเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ตอบโจทย์ธุรกิจอย่างครบถ้วน

ทำเว็บไซต์กับพวกเรา Foxbith เราช่วยคุณได้

สุดท้ายนี้ หากยังไม่มั่นใจหรือต้องการความช่วยเหลือในการสร้างเว็บไซต์ขายของออนไลน์ สามารถใช้บริการรับจ้างทำเว็บไซต์จากเรา Foxbith ได้ ตั้งแต่วิเคราะห์ความต้องการ แนะนำแนวทางที่เหมาะสม และพร้อมดูแลซัพพอร์ตในระยะยาว