Technology

รู้จักกับ “แอปพลิเคชัน (Application)” คืออะไร มีกี่ประเภท

February 1, 2024

รู้จักกับ “แอปพลิเคชัน (Application)” คืออะไร มีกี่ประเภท

ยุคของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แอปพลิเคชัน (Application) ได้กลายเป็นส่วนนึงในชีวิตประจำวันเราที่เลี่ยงการใช้ได้ยาก เพราะไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เรียนรู้ สื่อสาร หรือการค้นหาความบันเทิง แอปพลิเคชันเหล่านี้ล้วนช่วยทำให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แต่แอปพลิเคชันไม่จำเป็นต้องใช้งานบนสมาร์ทโฟนเสมอไป แท้จริงแล้ว ความหมายของแอปพลิเคชัน คืออะไร มาดูกันครับ

แอปพลิเคชัน คืออะไร

แอปพลิเคชัน (ถูก) ไม่ใช่ แอพพลิเคชั่น (ผิด) 

แอปพลิเคชัน (Application) หรือเรียกกันว่า แอป (App) คือโปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่ใช้ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ ให้ทำงานได้ตามที่สั่ง โดยเชื่อมต่อกับผู้ใช้ด้วย User Interface หรือ UI เพื่อเป็นตัวกลางในการใช้งาน

หมวดหมู่หลักของแอปพลิเคชัน

  • Desktop Application แอปพลิเคชันที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC)
  • Mobile Application แอปพลิเคชันที่ทำงานบนโทรศัพท์มือถือ
  • Web Application แอพพลิชั่นที่ทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์

2 ประเภทหลัก แอปพลิเคชัน

  1. แอปพลิเคชันระบบ (System Application) หมายถึงระบบปฏิบัติการที่เป็นตัวรองรับการใช้งานแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่ติดตั้งบนอุปกรณ์เทคโนโลยี ที่รู้จักกันดีเช่น แอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (IOS)
  2. แอปพลิเคชันประยุกต์ (Application Software) หมายถึงแอปพลิเคชันที่ตอบสนองผู้ใช้ตามการใช้งานเฉพาะด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น Facebook, Line, Grab, อุปกรณ์ IOT และอีกมากมาย

เดสก์ท็อปแอปพลิเคชัน (Desktop Application)

แอปพลิเคชันประยุกต์ หรือ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ ที่ติดตั้งและใช้งานบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อป หรือโน๊ตบุ๊ก ไม่สามารถใช้บนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ได้ เพราะมีการออกแบบและเขียนโค้ดที่ต่างกัน หากต้องการใช้จำเป็นต้องออกแบบใหม่เพื่ออุปกรณ์นั้นโดยเฉพาะ

โมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application)

แอปพลิเคชันประยุกต์ที่พัฒนาสำหรับใช้งานบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้ ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

1. Native App

Native App การพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับระบบปฏิบัติการ (OS) ของอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่โดยเฉพาะ ด้วยการใช้ภาษาเขียนโค้ดของแต่ละ OS ตัวอย่างเช่น

  • iOS (iPhone, iPad, Apple Watch) ใช้ภาษา Object C หรือ Swift ในการพัฒนาด้วยโปรแกรม XCode
  • Android ใช้ภาษา Java หรือ Kotlin ในการพัฒนาด้วยโปรแกรม Android Studio

2. Hybrid App

Hybrid App แอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้หลายแพลตฟอร์ม ใช้การพัฒนาเหมือนหรือใกล้เคียงกับ Web App ด้วยภาษา HTML, CSS หรือ JavaScript ในการพัฒนาร่วมกับ component ทำให้แอปพลิเคชันสามารถเรียกใช้ประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ และระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ได้ เมื่อพัฒนาเสร็จจึงนำไปให้ผู้ใช้ download จาก AppStore หรือ PlayStore ได้เหมือนกับ Native App

เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application)

แอปพลิเคชันประยุกต์ที่เข้าถึงด้วยเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ต่างจากเว็บไซต์ตรงที่ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับเว็บได้มากกว่าแค่การดูข้อมูล เว็บเพจถูกปรับแต่งให้แสดงผลแต่ส่วนที่จำเป็น เพื่อลดการใช้ทรัพยากรประมวลผลของเครื่องสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ทำให้เว็บแอปพลิเคชันโหลดหน้าเว็บได้เร็ว ใช้งานได้แม้อินเทอร์เน็ตจะมีความเร็วไม่สูง

บทสรุป

สรุปแล้ว แอปพลิเคชัน (Application) นั้นคือโปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่ใช้สั่งการคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ ผ่าน UI (User Interface) เป็นตัวกลางใช้งาน แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ตามลักษณะการใช้ต่อไปนี้

  • แอปพลิเคชันระบบ (System Application) ระบบปฏิบัติการที่รองรับการใช้แอปพลิเคชันประยุกต์
  • แอปพลิเคชันประยุกต์ (Application Software) แอปพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานเฉพาะด้าน

นอกจากประเภทหลักแล้ว หากแบ่งแอปพลิเคชันตามการใช้บนอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน จะได้ออกเป็น 3 หมวดหมู่คือ เดสก์ท็อปแอปพลิเคชัน (Desktop Application) , โมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application) และ เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) นั่นเองครับ