Business

[เจาะลึก] วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) สาขานี้คืออะไร

February 21, 2024

[เจาะลึก] วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) สาขานี้คืออะไร

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ได้กลายเป็นหนึ่งในสาขาที่สำคัญมากในโลกเทคโนโลยี สาขานี้ไม่เพียงแค่มีบทบาทในการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกหลักที่ใช้ขับเคลื่อนนวัตกรรม กับการเปลี่ยนแปลงของหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย

เพราะมี วิศวกรซอฟต์แวร์ ที่รับบทบาทสำคัญในการสร้างแอปพลิเคชัน ระบบปฏิบัติการ เกม และอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีพวกเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของเทคโนโลยีที่เราใช้กันทุกวัน สำหรับบทความนี้ เราจะพามาเจาะลึกในโลกของวิศวกรรมซอฟต์แวร์กันครับ

วิศวกรรมซอฟต์แวร์ คืออะไร

วิศวกรรมซอฟต์แวร์ หรือ Software Engineering คือศาสตร์ที่ประยุกต์ใช้หลักการทางวิศวกรรมในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ พัฒนาทดสอบ การนำไปใช้งาน และไปจนถึงการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์

ถ้ามองให้ลึกลงไป วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ก็ถือเป็นศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์อย่างนึง เพราะการจะสร้างผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ซักตัว นอกจากความรู้กับทักษะด้านพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว นักพัฒนา (Dev.) ก็จำเป็นต้องสามารถคิดนอกกรอบ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้ใช้ ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ

ที่มาและวิวัฒนาการของวิศวกรรมซอฟต์แวร์

วิศวกรรมซอฟต์แวร์ เป็นสาขาที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะพัฒนากับจัดการซอฟต์แวร์อย่างมีระบบและเป็นวิทยาศาสตร์, ในช่วงต้นยุค 1940-1950 การพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการกำเนิดของคอมพิวเตอร์รุ่นแรก แต่ในช่วงนั้นยังไม่มีการจัดการหรือกระบวนการที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพและเวลาในการพัฒนาที่ยืดเยื้อ

การเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในช่วงยุค 1960 เมื่อวงการซอฟต์แวร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการจัดการกับวิธีการพัฒนาที่มีระบบ ด้วยความพยายามที่จะกำหนดกระบวนการและมาตรฐานที่ดีขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ "วิศวกรรมซอฟต์แวร์" ในแบบที่เรารู้จักกัน และได้พัฒนาปรับปรุงกระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด

อาชีพและการศึกษาในสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

ในประเทศไทย มีมหาลัยหลายแห่งที่เปิดสอนสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ถึงชื่อที่ใช้เรียกอาจจะต่างกันไป (ตามตัวอย่างมหาลัยที่เปิดสอน) แต่ทั้งหมดนี้ ล้วนมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์แทบทั้งสิ้น

ตัวอย่าง มหาลัยที่เปิดสอนวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ในประเทศไทย

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ / ระดับชั้น ป.ตรี
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ / ระดับชั้น ป.ตรี
  • มหาวิทยาลัยพะเยา / คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ / ระดับชั้น ป.ตรี
  • สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ / คณะสถิติประยุกต์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ / ระดับ ป.โท
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ / ระดับ ป.โท

คุณสมบัติและทักษะจำเป็น เพื่อใช้ศึกษาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

สำหรับผู้ที่สนใจเลือกเรียนสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ โดยทั่วไปแล้วมหาลัยที่เปิดสอน มักจะเลือกพิจารณาจากคุณสมบัติ กับทักษะทั้ง Hard skill และ Soft skill ต่อไปนี้ 

คุณสมบัติผู้ที่สนใจเรียน

  1. มีทักษะกับผลงาน (Portfolio) การเขียนโปรแกรม
  2. สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์
  3. สำเร็จการศึกษา หลักสูตรนอกโรงเรียน (กศน.) ที่ศึกษารายวิชาต่าง ๆ เทียบเท่าหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน สำหรับหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้แสดงหลักฐานว่าได้ศึกษาภาคปฏิบัติการเทียบเท่าหลักสูตรในโรงเรียน
  4. สำเร็จการศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประเภทช่างอุตสาหกรรม (คอมพิวเตอร์)
  5. เกณฑ์พิจารณาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับมหาลัยที่เปิดรับกำหนด

ทักษะเฉพาะทาง (Hard Skill)

ทักษะด้านเทคนิคที่จำเป็น สำหรับวิชาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ ซึ่งสามารถวัดระดับทักษะเหล่านี้ด้วยเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมได้

  • สำเร็จการศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประเภทช่างอุตสาหกรรม (คอมพิวเตอร์)
  • เกณฑ์พิจารณาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับมหาลัยที่เปิดรับกำหนด

ทักษะเฉพาะทาง วิศวกรซอฟต์แวร์

  1. การเขียนโค้ด (Coding) : ความรู้ความสามารถในการเขียนโค้ดอย่าง Java, Python, C++ หรือ JavaScript เพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่ต้องการ - 10 ภาษาที่ใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ยอดนิยม
  2. กระบวนทัศน์การเขียนโปรแกรม (Programming Paradigms) : แนวคิดกับแนวทางการเขียนโค้ดที่แตกต่างกันหลายแบบ เช่นกระบวนทัศน์เชิงวัตถุ (Object-Oriented Programming) หรือกระบวนทัศน์เชิงฟังก์ชัน (Functional Programming)
  3. สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ (Software Architecture) : การออกแบบโครงสร้างและส่วนประกอบของซอฟต์แวร์ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. โครงสร้างข้อมูล และอัลกอริทึม (Data Structures/Algorithms) : รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย และขั้นตอนการแก้ปัญหาที่กำหนดไว้อย่างเป็นระบบ
  5. ฐานข้อมูล (Database) : การจัดการกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็ว 
  6. การทดสอบ (Testing) : กระบวนการตรวจสอบซอฟต์แวร์ เพื่อหาข้อผิดพลาดหรือความผิดปกติ
  7. ความปลอดภัยของเว็บ (Web Security) : การป้องกันเว็บแอปพลิเคชัน จากภัยคุกคามด้านความปลอดภัยต่าง ๆ

ทักษะทางสังคม (Soft Skill)

ไม่ว่าจะสายอาชีพใด รวมถึงงานที่ใช้ความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ทักษะทางสังคมนั้น จะสามารถช่วยส่งเสริมให้วิศวกรซอฟต์แวร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในงานที่ต้องทำคนเดียว หรืองานที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่น ถือเป็นทักษะสำคัญไม่แพ้ Hard skills ที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ทักษะทางสังคม วิศวกรซอฟต์แวร์

  1. การแก้ปัญหา (Problem-Solving) : ความสามารถในการระบุปัญหา วิเคราะห์สาเหตุ และหาแนวทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) : กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล สามารถแยกแยะข้อมูลที่ได้รับ และหาข้อสรุปที่ถูกต้องได้
  3. การปรับตัว (Adaptability) : สามารถรับรู้สถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างทันท่วงที
  4. การทำงานเป็นทีม (Collaboration/Teamwork) : สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมืออาชีพ แยกแยะเรื่องส่วนตัวกับงานได้ชัดเจน คอยแบ่งปันความรู้และทรัพยากร เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
  5. ทักษะการสื่อสาร (Communication) : สามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก หรือข้อมูลต่าง ๆ ให้กับผู้รับสารได้ชัดเจน กระชับ และเข้าใจตรงกัน

อาชีพที่สามารถประกอบได้ หลังสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

สายงานหลักของผู้มีความรู้ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ มักจะถูกเรียกรวม ๆ ว่า Developer หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่แท้จริงแล้วสายงาน developer นั้น ยังสามารถแยกย่อยไปได้อีกหลายตำแหน่งงาน ตามหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือต่อยอดไปยังสายงานอื่นที่เกี่ยวข้องกันได้ ไม่จำกัดเพียงต้องอยู่กับงานเขียนโค้ดเท่านั้น ทำให้โอกาสในการเติบโตและเส้นทางของผู้ที่เรียนวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มีความหลากหลายและน่าสนใจอย่างมาก

ตัวอย่าง ตำแหน่งอาชีพที่ทำงานได้ หลังจบการศึกษาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

  • วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer)
  • นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Developer Front-end/Back-end/Full stack/DevOps)
  • นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst)
  • วิศวกรข้อมูล (Data Engineer)
  • นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst)
  • นักทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Tester/QA Engineer)
  • ผู้จัดการโปรเจกต์ (Project Manager)
  • นักพัฒนาเกม (Game Developer)
  • นักพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือ (Mobile App Developer)
  • etc.

นอกจากที่กล่าวไป หากสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ก็ยังสามารถเลือกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ ไม่บังคับว่าจะมีแต่งานบริษัทเท่านั้น อย่างเช่น ผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์ อาจารย์สอนวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หรือนักเขียนโปรแกรมอิสระ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดและความสนใจของแต่ละคนด้วย

แนวโน้มอนาคตของสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

จากประสบการณ์ด้านนี้ เรามองว่าแนวโน้มอนาคตของสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ จะยังคงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของเด็กจบใหม่ที่สนใจเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ เพราะไม่ว่าจะแง่มุมไหนในชีวิตยุคนี้ ทุกคนล้วนต้องใช้ซอฟต์แวร์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะการสื่อสาร การทำงาน การศึกษา หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพ และอื่น ๆ อีกมากมหาศาล

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ (BLS) คาดการณ์ว่า ความต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์จะเพิ่มขึ้นถึง 22% ภายในปี 2029 หรือคิดเป็น 409,500 ตำแหน่งว่าง สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

ปัจจัยหลักที่ทำให้สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มีแนวโน้มเติบโตสูง

  • การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อุปกรณ์พกพา และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความต้องการที่ดีกว่าเดิม หรือความต้องการใหม่ ๆ ที่จะเป็นทั้งโอกาสและโจทย์ปัญหาให้กับวิศวกรซอฟต์แวร์ 
  • การขยายตัวของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ที่ผู้คนหันมาซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤตโรคระบาด (covid-19)
  • ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่อง (ML) บล็อกเชน IoT เมตาเวิร์ส และเทคโนโลยีใหม่อีกมากที่เกิดขึ้น เหล่านี้จะกลายมาเป็นส่วนนึงของผู้คนในอนาคต ทำให้ผู้มีความรู้วิศวกรรมซอฟต์แวร์เป็นที่ต้องการสูง
  • ความต้องการเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะสิ่งที่มาพร้อมกับความเจริญก้าวหน้า คือภัยคุกคามที่อาจแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้านการพัฒนาและการรับมือหรือแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัย ก็ล้วนเป็นงานของผู้ที่มีความรู้วิศวกรรมซอฟต์แวร์

คำถามที่พบบ่อย วิศวกรรมซอฟต์แวร์

วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ต่างจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ อย่างไร

คำตอบ วิศวกรรมซอฟต์แวร์เป็นสาขาที่เน้นกระบวนการออกแบบ พัฒนา และบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ โดยใช้หลักการกับเครื่องมือทางวิศวกรรม ต่างจากสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่เน้นศึกษาหลักการพื้นฐาน และเชิงทฤษฎีของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ทั้งสองสาขามีความคล้ายคลึงกันในบางเรื่อง แต่มีขอบเขตการศึกษาและเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ค่าตอบแทนของวิศวกรซอฟต์แวร์ เริ่มที่เดือนละเท่าไหร่

คำตอบ เริ่มต้นที่ 25,000 ถึง 35,000 บาท สำหรับปริญญาตรีจบใหม่ ส่วนระดับปริญญาโทจะเริ่มที่ประมาณ 30,000 ถึง 40,000 บาท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย อย่างประสบการณ์ทำงาน ทักษะความเชี่ยวชาญ หรือผลงานระหว่างเรียน

แต่สายงานนี้ค่าแรงขึ้นเร็วมาก ทำงานไม่กี่ปีและถ้ามีผลงานดี เงินเดือนอาจขึ้นทะลุ 50,000 บาทไปได้สวย ๆ เลยครับ

บทสรุป

สรุปแล้ว วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) นั้นคือหลักสูตรการศึกษา ที่เรียนเกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือที่มักเรียกกันว่า “การเขียนโปรแกรม” ด้วยการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาโปรแกรมตั้งแต่การวิเคราะห์ requirements ของลูกค้า จนถึงการ coding และทดสอบซอฟต์แวร์ เพื่อส่งมอบให้กับผู้ว่าจ้าง

ปัจจุบัน วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ถือเป็นสาขาวิชาที่มีผู้ต้องการเข้าศึกษาจำนวนมาก เพราะอิทธิพลจากชีวิตประจำวันรอบตัว ที่ตอบสนองในเกือบทุก ๆ เรื่องด้วยซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเฉพาะ ไม่ว่าจะภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา หรือภาคการปกครอง ทำให้ วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ได้รับบทบาทสำคัญที่จะเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ