Technology

อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) ต้องทำอะไรบ้าง?

December 5, 2023

อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) ต้องทำอะไรบ้าง?

แอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ล้วนเป็นซอฟต์แวร์ประเภทนึง ที่ผ่านการออกแบบจาก “ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ” จนทำออกมาใช้ได้จริงแทบทั้งสิ้น สายอาชีพนี้ไม่ได้ทำเพียงแค่เขียนโค้ดเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ทักษะอีกหลายอย่าง เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพออกมา ตามมาดูกันครับ ว่าทำไมอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ถึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน

นักพัฒนาซอฟต์แวร์ คืออะไร

นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Software Developer คือบุคคลที่มีความรู้และความสามารถที่จำเป็นต่อการสร้างซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยทำการออกแบบ วางแผน และเขียนโค้ด (Code) ด้วยการเลือกใช้ภาษา (Programming language) ที่เหมาะสมกับซอฟต์แวร์นั้น ๆ

ไม่เพียงแค่การทำงานเกี่ยวกับโค้ด แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องทำงานร่วมกับผู้ใช้ ลูกค้า หรือผู้ร่วมงานคนอื่นเพื่อวิเคราะห์ความต้องการ แก้ใขปัญหา และพัฒนาปรับปรุงให้ซอฟต์แวร์มีประสิทธิภาพ รวมถึงการทดสอบก่อนนำไปใช้ แก้ใขข้อผิดพลาด (bug) และบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ให้ทำงานได้ดีอยู่เสมอ

หน้าที่ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์

ความรับผิดชอบของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ อาจแตกต่างกันไปตามลักษณะงาน ขนาดโปรเจค และองค์กรที่ทำงาน แต่โดยทั่วไปแล้ว Software Developer จะทำหน้าที่ต่อไปนี้

  1. วิจัย วิเคราะห์ และออกแบบระบบซอฟต์แวร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ และนำมาออกแบบระบบที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้น
  2. วางแผนกระบวนการทำซอฟต์แวร์ โดย Software Developer จะต้องกำหนดขั้นตอนการทำงานของระบบ รวมถึงการออกแบบหน้าตา รูปแบบ และฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเกิดความสะดวกในการใช้
  3. ทดสอบ ตรวจสอบ ให้กระบวนการเป็นไปตามที่กำหนด ว่าสามารถทำงานได้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยต้องรีเช็คว่าจะไม่มีข้อผิดพลาด บั๊ก หรือช่องโหว่ใด ๆ หรือหากพบเจอควรสามารถแก้ใขได้ทันที
  4. ประเมินผลการทำงานกับความเสี่ยงในทุกขั้นตอน ให้สอดคล้องกับความต้องการผู้ใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบ ความเสี่ยง และความคุ้มค่าที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นต่อ
  5. สนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบใหญ่ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ควรจะให้ความมือกับทีมงานในการพัฒนาระบบที่มีความซับซ้อน และมีการเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ให้มีคุณภาพดี พร้อมกับพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
  6. ดูแลข้อมูลด้านซอฟต์แวร์ขององค์กร หากนำข้อมูลองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์มาใช้ ก็จำเป็นต้องดูแลและแก้ใขให้เรียบร้อย โดยต้องมีการจัดเก็บ สำรอง ป้องกัน และสามารถกู้คืนข้อมูลได้อย่างครบถ้วน 
  7. แนะนำการใช้ระบบซอฟต์แวร์ หลังพัฒนาเสร็จสิ้นจำเป็นต้องสอนการใช้ซอฟต์แวร์ให้กับพนักงาน โดยมีการทำคู่มือ บอกวิธีการใช้ คำแนะนำที่ชัดเจน และสามารถตอบคำถามต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสม
  8. ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า ที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีการรายงานความคืบหน้า ปัญหา และข้อเสนอแนะอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับปฏิบัติตามกฏระเบียบ นโยบาย ตามมาตรฐานขององค์กร

ทักษะของนักพัฒนาซอฟต์แวร์

Software Developer นั้นเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงมากในยุคดิจิทัล การจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีนั้น ทักษะเขียนโค้ดเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่พอครับ แต่ควรต้องมีทักษะรอบด้านทั้งทักษะเฉพาะสายงาน (Hard Skill) กับความสามารถทางสังคม (Soft Skill) ตามต่อไปนี้

1. เทคนิคหรือทักษะเฉพาะสายงาน (Hard Skill) ที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม การออกแบบระบบ การทดสอบ และการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ เหล่านี้ล้วนเป็นทักษะที่สามารถวัดผลได้ ฝึกฝนได้จากการศึกษา อบรม หรือทำงานจริง

ทักษะ Hard Skill ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์
ทักษะการเขียนโค้ด
(Coding)
รู้เกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น C, C++, Java, Python, JavaScript และอื่น ๆ รวมถึงความรู้เรื่องเครื่องมือ framework หรือ library ที่ช่วยเขียนโปรแกรมให้ง่ายขึ้น
ทักษะด้านโครงสร้างข้อมูล และ Algorithm สามารถเลือกโครงสร้างข้อมูลที่เหมาะสมกับปัญหา และเขียน algorithm ที่เหมาะสม เพื่อให้ซอฟต์แวร์ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ
ทักษะจัดการฐานข้อมูล
(Database and SQL)
จัดการกับฐานข้อมูล โดยใช้ภาษา SQL (Structured Query Language) ในการเข้าถึงการแก้ใขกับการจัดเก็บข้อมูล
ทักษะระบบปฏิบัติการ
(Operating System)
คุ้นเคยและเข้าใจกับระบบปฏิบัติการพื้นฐานต่าง ๆ เช่น Windows, Linux, MacOS, Android และ iOS เป็นต้น
ความปลอดภัยทางไซเบอร์
(Cyber Sceurity)
มีความรู้และตระหนักเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ ลักษณะวิธีการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสามารถป้องกันหรือแก้ใขการโจมตีได้

2. ความสามารถทางสังคม (Soft Skill) สำคัญอย่างมากต่อการทำงานของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ต้องการให้กระบวนการทำงานกับผู้ใช้ เกิดความราบรื่นและเรียบร้อยไปด้วยดี

ทักษะ Soft Skill ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์
การสื่อสาร
(Communication)
ทั้งการพูด การเขียน และการฟังที่ดี จะช่วยให้สื่อสารความคิดและความเห็นได้ชัดเจน สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เร็ว
การทำงานเป็นทีม
(Teamwork)
ทักษะที่ช่วยให้สามารถปรับตัวได้ง่าย เกิดความร่วมมือและแบ่งปันความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงานเสร็จเร็วขึ้น
การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
(Problem-solving)
แก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์ เตรียมพร้อมรับมือ และหาสาเหตุเพื่อแก้ใขให้ได้อย่างถูกต้อง
การเรียนรู้สิ่งใหม่
(Learning)
นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องพยายามปรับตัว และออกแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อสร้างผลงานที่แตกต่างอยู่เสมอ
การบริหารเวลา
(Time Management)
จัดลำดับความสำคัญของงาน กำหนดเป้าหมาย และวางแผนให้งานเสร็จทันตามกำหนด

Software Developer จำเป็นต่อองค์กรแบบไหน

นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นสายอาชีพที่จำเป็นต่อองค์กรทุกประเภท ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ หรือต้องการเผยแพร่ข้อมูล สินค้า และบริการของตนเองผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ตั้งแต่องค์กรขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่

สำหรับองค์กรที่ไม่มีบุคลากรทางด้านนี้ ทำให้ต้องจ้าง บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software House) หรือฟรีแลนซ์เพื่อมาดูแลงานส่วนนี้ เป็นโอกาสของ Software Developer รายย่อย ที่จะเสนอบริการของตนเองให้กับองค์กรเหล่านั้น รวมถึงการให้บริการกับบุคคลทั่วไปด้วยเช่นกัน

เส้นทางการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer)

ยุคดิจิตัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในเกือบทุกด้าน “ อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ” จึงมีความต้องการมากขึ้น เพราะเป็นผู้ที่สามารถสร้างนวัตกรรมและโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนหรือองค์กรต่าง ๆ ได้ การจะเป็น Software Developer ในประเทศไทยนั้น สามารถเริ่มจากการเตรียมพร้อมเหล่านี้ได้

  1. การศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสาขาอื่น ๆ ที่สอนทักษะความรู้อันจำเป็นต่อการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ - [เจาะลึก] วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) สาขานี้คืออะไร
  2. หาความรู้เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด การออกแบบระบบ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน ทักษะเหล่านี้จะทำให้มีคุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน
  3. หาประสบการณ์ทำงาน ด้วยการฝึกงานหรือเป็นฟรีแลนซ์ เพื่อสั่งสมประสบการณ์พร้อมกับเก็บและเรียบเรียงผลงานที่ผ่านมา (Portfolio) ให้มากที่สุดก่อนที่จะไปสมัครร่วมงานกับองค์กรขนาดใหญ่

โอกาสก้าวหน้าของอาชีพ Software Developer

ถือว่าเป็นอาชีพในประเทศไทย ที่มีความต้องการและโอกาสเติบโตในอนาคตได้อีกยาวไกล เพราะเป็นสายงานที่มีความสามารถเฉพาะทาง ทำให้มีรายได้ค่อนข้างสูง เริ่มต้นอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน อ้างอิงจากรายงานของ Adecco Thailand และมีโอกาสเติบโตได้มากถึง 400% ภายใน 7 ปีแรก

บทสรุป

สรุปแล้ว นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Software Developer นั้นคือคนที่มีทักษะความเชี่ยวชาญในการสร้างซอฟต์แวร์ โดยมีหน้าที่ตั้งแต่วิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ วางแผนกระบวนการทำซอฟต์แวร์ให้เสร็จทันตามกำหนด และทำคู่มือพร้อมให้คำแนะนำการใช้หลังส่งมอบงาน

หากจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ควรต้องมีทักษะที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์รอบด้าน ทั้งด้านเทคนิคเฉพาะสายงาน (Hard Skill) กับทักษะทางสังคม (Soft Skill) เพราะ Software Developer ไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวกับโค้ดเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานร่วมกับผู้ใช้ ลูกค้า หรือผู้ร่วมงานคนอื่นด้วยนั่นเอง