Technology

รู้จักกับ “SDLC วงจรชีวิตซอฟต์แวร์ระยะพัฒนา” คืออะไร ?

February 22, 2024

รู้จักกับ “SDLC วงจรชีวิตซอฟต์แวร์ระยะพัฒนา” คืออะไร ?

ในโลกของการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Development) นั้นมีหลายเรื่องที่ต้องคำนึง ตั้งแต่ความต้องการผู้จ้าง (Requirement) ความซับซ้อนของระบบ จนถึงเรื่องความปลอดภัยของซอฟต์แวร์

โปรเจกต์พัฒนาซอฟต์แวร์จะสำเร็จได้ ไม่ได้ทำเพียงแค่การเขียนโค้ดเท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากการวางแผน การออกแบบ การทดสอบ รวมถึงการบำรุงรักษาหลังจากที่ซอฟต์แวร์ถูกนำไปใช้งานจริงอีกด้วย

กระบวนการทั้งหมดนี้รวมเป็นสิ่งเดียว เรียกว่า Software Development Life Cycle หรือ SDLC บทความนี้จะพามารู้จักความหมาย และขั้นตอนทั้งหมดของ SDLC พร้อมทั้งสำรวจโมเดล (SDLC Model) ที่ใช้กับกระบวนการนี้กันครับ

SDLC คืออะไร

SDLC หรือ Software Development Life Cycle คือกระบวนการพื้นฐานที่ใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ที่เป็นมาตรฐาน ตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการ จนถึงการทดสอบและการบำรุงรักษา เพื่อให้แต่ละขั้นตอนมีชุดการส่งมอบที่จะป้อนในระยะต่อไป กระบวนการ SDLC นี้จะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถติดตามความคืบหน้า และจัดการกับปัญหาได้ง่ายมากขึ้น

ความสำคัญและประโยชน์ของ SDLC

  • การมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน ช่วยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ ตั้งแต่ผู้จัดการโปรเจกต์ไปจนถึงนักพัฒนามีความเข้าใจตรงกัน และติดตามความคืบหน้าของโปรเจกต์ได้สะดวก
  • ประเมินความซับซ้อน ความเสี่ยง ต้นทุน และระยะเวลาที่ใช้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้ ช่วยให้จัดการกับทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • กระบวนการที่ชัดเจนยังช่วยในเรื่องบริหารความเสี่ยง เพื่อให้แน่ใจว่าคุณภาพของซอฟต์แวร์จะได้รับตรงตามทุก requirement
  • ผู้ใช้ได้มีส่วนร่วมและเข้าใจในแต่ละขั้นตอนการพัฒนา รับฟังความต้องการของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้น
  • ลำดับขั้นตอนพัฒนาที่ชัดเจน มีผลช่วยให้ส่งมอบซอฟต์แวร์ได้ทันตรงเวลา และมีคุณภาพตามที่คาดหวัง

6 ขั้นตอน Software Development Life Cycle

กระบวนการของ SDLC จะประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ที่มีบทบาทความสำคัญแตกต่างกันไปตามลำดับ ตามต่อไปนี้

1. วางแผน (Requirement Analysis)

ขั้นตอนแรกของ SDLC ที่เป็นการรวบรวม และวิเคราะห์ความต้องการจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อระบุ requirement ของลูกค้าและกำหนดขอบเขตของโปรเจกต์

ทีมนักพัฒนาจะต้องสื่อสารกับลูกค้าและเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ฟังก์ชันใช้งานที่ต้องการ และข้อจำกัดของระบบ รวมถึงรายละเอียดงบประมาณกับระยะเวลาของโปรเจกต์ เพื่อจัดทำเอกสารข้อกำหนดความต้องการ หรือ Software Requirements Specification (SRS) สำหรับใช้เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาซอฟต์แวร์กับผู้ว่าจ้าง

2. การออกแบบระบบ (System Design)

หลังจากที่กำหนด SRS ชัดเจนดีแล้ว ก็จะเริ่มกระบวนการออกแบบระบบซอฟต์แวร์สำหรับใช้พัฒนา โดยอิงตามเอกสารข้อกำหนดความต้องการที่ได้จากขั้นตอนก่อนหน้า

ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างสถาปัตยกรรมของซอฟต์แวร์ การออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูล อินเตอร์เฟซผู้ใช้ (UX/UI) ฯลฯ รวมถึงการกำหนดเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ต้องใช้ในการพัฒนา โดยจะจัดทำเอกสารการออกแบบระบบ หรือ System Design Document ที่ระบุโครงสร้างกับการทำงานของซอฟต์แวร์อย่างละเอียด เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับพัฒนาในขั้นตอนถัดไป

3. ดำเนินการพัฒนา (Implementation)

SDLC ขั้นตอนนี้ จะเป็นการเขียนโค้ดหรือการสร้างซอฟต์แวร์จริงตามเอกสารการออกแบบระบบ ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจากขั้นตอนก่อนหน้านี้

นักพัฒนามักจะแบ่งงานออกเป็นหลายโมดูล และถูกพัฒนาโดยทีมหรือบุคคลที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดและความซับซ้อนของโปรเจกต์ หลังจากที่โค้ดแต่ละส่วนพัฒนาเสร็จสิ้นก็จะนำมารวมกันเป็นระบบใหญ่ วิธีการนี้อาจเกิดขึ้นหลายครั้งในระหว่างการพัฒนา เพื่อทดสอบแต่ละส่วนของโค้ดอย่างละเอียด (Unit Testing) และแก้ใขข้อผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบระบบที่ครอบคลุมมากขึ้น

4. การทดสอบ (Testing)

หลังจากพัฒนาซอฟต์แวร์เสร็จ ขั้นตอนทดสอบก็จะเริ่มขึ้น เพื่อค้นหาข้อผิดพลาดและปัญหาภายในซอฟต์แวร์ ฝ่าย QA (Quality Assurance) จะทำการทดสอบหลายระดับ หลายประเภท และหลายเหตุการณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าซอฟต์แวร์จะทำงานได้ตามที่คาดหวัง เสถียร และผ่านมาตรฐานความปลอดภัย เป็นขั้นตอนสำคัญในการประเมินคุณภาพก่อนที่จะถูกนำไปใช้งานจริง

5. ติดตั้งใช้จริง (Deployment)

ในกระบวนการ SDLC เมื่อซอฟต์แวร์ผ่านการทดสอบว่ามีคุณภาพ และตรงตาม requirement ของลูกค้าทุกอย่าง ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการติดตั้งให้กับผู้ใช้

การติดตั้งที่ว่า หมายถึงการนำซอฟต์แวร์ออกจากสภาพแวดล้อมการพัฒนาทดสอบ และนำไปติดตั้งบนเซิร์ฟเวอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่จะใช้งานจริง รวมถึงการตั้งค่าระบบให้ผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้

ระหว่างการติดตั้ง นักพัฒนาจำเป็นจะต้องดำเนินการอบรมผู้ใช้งาน เพื่อให้เข้าใจวิธีการใช้ซอฟต์แวร์ที่สร้างอย่างถูกต้อง อีกทั้งต้องจัดทำเอกสารคู่มืออธิบายรายละเอียดการใช้งานเบื้องต้น เพื่อให้ซอฟต์แวร์ถูกนำไปใช้ได้ตามที่คาดหวัง

6. การบำรุงรักษา (Maintenance)

SDLC ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่ซอฟต์แวร์ถูกติดตั้งใช้งานจริงเรียบร้อย ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์จะยังคงทำงานได้ดีไปตามการเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้และธุรกิจ

การ Maintenance ไม่ใช่เพียงการแก้ไขข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น แต่รวมถึงการอัปเดต การเพิ่มฟังก์ชันใหม่ และการพัฒนาระบบให้เข้ากับเทคโนโลยีล่าสุดอีกด้วย มักต้องเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อคุณภาพกับความน่าเชื่อถือของซอฟต์แวร์ในระยะยาว

7 ประเภท SDLC Model

SDLC Model คือแบบแผนการทำงานที่ใช้พัฒนาซอฟต์แวร์ ให้อยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ แต่ละโมเดลของ SDLC จะมีวิธีการกับขั้นตอนที่ต่างกัน แต่โมเดลทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายร่วมกัน ในการทำให้กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นไปได้อย่างราบรื่น และสามารถสร้างซอฟต์แวร์ที่ตอบสนองผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี สำหรับ SDLC Model ที่นิยมใช้และรู้จักกันดี จะมีอยู่ 7 โมเดล ตามต่อไปนี้

1. Big Bang Model

Big Bang model เป็นโมเดล SDLC ที่เน้นไปที่การเขียนโค้ดของซอฟต์แวร์โดยตรง ไม่เน้นการวางแผนหรือการทำงานทีละขั้นตอนอย่างเป็นระบบ การพัฒนาจะเริ่มต้นโดยไม่มีแผนที่ละเอียดและโครงสร้างไม่ชัดเจน เหมาะกับโปรเจกต์ขนาดเล็กที่มีนักพัฒนา 1-2 คนทำงานร่วมกันในระยะเวลาพัฒนาที่จำกัด มักจะทดสอบซอฟต์แวร์เมื่อเสร็จหรือใกล้เสร็จในทีเดียว

ข้อดีของ Big Bang Model

  1. ใช้งบประมาณไม่สูง เหมาะกับโปรเจกต์ขนาดเล็ก
  2. ความยืดหยุ่นในการทำงานสูง สามารถทำงานได้อย่างอิสระ
  3. ไม่ต้องเสียเวลาวางแผนนาน หรือจัดทำเอกสารให้วุ่นวาย

ข้อพิจารณาของ Big Bang Model

  1. มีความเสี่ยงสูงที่จะพบข้อผิดพลาด หรือบัคจำนวนมาก
  2. อาจไม่ได้ฟีเจอร์ตามที่ผู้จ้าง requirement มาทุกอย่าง
  3. ไม่เหมาะกับโปรเจกต์ขนาดใหญ่ หรือที่มีความซับซ้อนสูง
  4. หากต้องการเอกสาร SRS หรือคู่มือการใช้งานซอฟต์แวร์ โมเดลนี้จะไม่มีให้

2. Waterfall Model

Waterfall model เป็นโมเดล SDLC เก่าแก่ แต่ยังคงได้รับความนิยมมาก เพราะมีลำดับขั้นตอนพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชัดเจน เรียงต่อกันเป็นลำดับ แต่ละขั้นต้องเสร็จเรียบร้อยก่อนถึงจะเริ่มขั้นถัดไปได้ โมเดลนี้มีโครงสร้างที่เข้าใจง่ายแต่ใช้เวลาทำนาน เหมาะกับโปรเจกต์ที่มีความต้องการกับข้อกำหนดชัดเจน แน่นอน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย

ข้อดีของ Waterfall Model

  1. ไฟนอลซอฟต์แวร์มีคุณภาพสูง และได้รับตาม requirement ที่ต้องการทั้งหมด
  2. ข้อผิดพลาด หรือบัคมีน้อยมากจนแทบไม่มี เพราะมีการทดสอบตลอดการพัฒนา และรับฟีดแบ็คมาปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

ข้อพิจารณาของ Waterfall Model

  1. ไม่เหมาะกับโปรเจกต์ที่ requirement ไม่ชัดเจน เปลี่ยนแปลงบ่อย หรือมีเอกสาร SRS ไม่ครบถ้วน
  2. ใช้ระยะเวลาพัฒนาซอฟต์แวร์นาน ทำให้งบประมาณต้องสูงขึ้นตามไปด้วย
  3. แก้ไขได้ยุ่งยากหากพบปัญหา หรือข้อผิดพลาด เพราะไม่สามารถย้อนกลับไปทำขั้นตอนก่อนหน้าได้

3. V-Shaped Model

V-Shaped model เป็นโมเดล SDLC ที่เน้นการทดสอบอย่างเข้มงวดในแต่ละขั้นตอน มีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน สามารถย้อนกลับไปทำขั้นก่อนหน้าได้ โมเดลนี้เป็นการขยายและปรับปรุงมาจาก Waterfall model ด้วยการเพิ่มส่วนการทดสอบเข้ามาในทุกขั้นตอน มีจุดเด่นเรื่องการรับประกัน ว่าในแต่ละขั้นตอนการพัฒนาจะได้รับการทดสอบอย่างถี่ถ้วน ทำให้ข้อผิดพลาดหรือบัคถูกตรวจพบ และแก้ใขได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นพัฒนาซอฟต์แวร์

ข้อดีของ V-Shaped Model

  1. การทดสอบอย่างเข้มงวดในแต่ละขั้นตอน ช่วยให้ซอฟต์แวร์มีคุณภาพสูง ข้อผิดพลาดมีน้อยมากหรือไม่มีเลย
  2. ตรวจพบและแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่การพัฒนาระยะแรก ลดความซับซ้อนในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
  3. มีขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ สามารถติดตามความคืบหน้าของโปรเจกต์ได้ง่าย

ข้อพิจารณาของ V-Shaped Model

  1. ไม่เหมาะกับโปรเจกต์ที่ requirement ไม่ชัดเจน หรือมีเอกสาร SRS ไม่ครบถ้วน
  2. การเปลี่ยนแปลงความต้องการ หรือข้อกำหนดในภายหลังนั้นทำได้ยาก และต้องใช้งบประมาณสูง

4. Iterative Model

Iterative Model เป็นโมเดล SDLC ขนาดใหญ่ ที่แบ่งการทำงานออกเป็นส่วนย่อย ๆ เน้นการพัฒนาผ่านการทำวนซ้ำหลายครั้ง ในแต่ละรอบของการวนซ้ำจะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงและเพิ่มเติมฟีเจอร์เฉพาะไปเรื่อย ๆ สิ่งนี้จะช่วยให้ทีมพัฒนาตอบสนองต่อ requirement ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

SDLC Model นี้ยังช่วยให้ผู้ใช้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสให้ข้อเสนอแนะ และมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ทำให้ไฟนอลซอฟต์แวร์ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี

ข้อดีของ Iterative Model

  1. ปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมฟีเจอร์ได้สะดวก เหมาะกับโปรเจกต์ซอฟต์แวร์ที่ requirement ไม่แน่นอน หรืออาจได้เปลี่ยนแปลงบ่อย
  2. ปัญหาข้อผิดพลาดถูกตรวจเจอได้เร็ว จากการทำวนซ้ำขั้นตอนหลายรอบ
  3. มีการรับฟีดแบ็คจากผู้ใช้ระหว่างการพัฒนา และนำมาปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้ตอบโจทย์ดีมากขึ้น

ข้อพิจารณาของ Iterative Model

  1. ใช้เวลาและทรัพยากรสูงมาก เพื่อทำซ้ำขั้นตอนของ SDLC หลายครั้ง
  2. งานเพิ่มจากการขยายขอบเขตไปเรื่อยแบบไม่มีสิ้นสุด (Scope Creep) การวนซ้ำแต่ละรอบจึงต้องอาศัยความระมัดระวังสูง
  3. ต้นทุนโดยรวมของโปรเจกต์ที่ใช้อาจสูงมากขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

5. RAD Model

RAD model หรือ Rapid Application Development โมเดล SDLC ที่เน้นขั้นตอนรวบรัด ด้วยการเลือกใช้เครื่องมือกับเทคนิคที่ช่วยให้การพัฒนาซอฟต์แวร์ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว นักพัฒนาจะใช้การสร้างต้นแบบ (Prototype) ของซอฟต์แวร์ขึ้นมา และนำไปทดสอบกับผู้ใช้ เพื่อรับฟีดแบ็คเป็นส่วนสำคัญมาพัฒนาต่อจนกว่าซอฟต์แวร์จะเสร็จพร้อมใช้

ข้อดีของ RAD Model

  1. โมเดลนี้เน้นความเร็วการพัฒนาเป็นหลัก จึงส่งมอบซอฟต์แวร์ในเวลาอันสั้นได้
  2. ผู้ใช้ได้เป็นส่วนสำคัญในระหว่างการพัฒนา

ข้อพิจารณาของ RAD Model

  1. การลดขนาดระบบลง (Reduced Scalability) ทำให้มีความยืดหยุ่นน้อย เนื่องเพราะพัฒนามาจากระบบต้นแบบ
  2. อาจไม่สมบูรณ์ได้ครบทุกฟีเจอร์ เพราะมีเวลาพัฒนาที่จำกัด

6. Spiral Model

Spiral model เป็นโมเดล SDLC ที่นำจุดแข็งของ Waterfall Model มาพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะแต่เดิมหากขั้นตอนไหนผิดพลาดจะไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องรอจบกระบวนการทั้งหมดก่อนถึงจะแก้ไขได้ตั้งแต่ขั้นแรกและเรียงลำดับขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำให้มีความเสี่ยงที่การพัฒนาซอฟต์แวร์จะไม่สำเร็จ

จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น Spiral model หรือโมเดลรูปเกลียว ที่เน้นการประเมินความเสี่ยงของโปรเจกต์ ด้วยการแบ่งโครงสร้างออกเป็นโปรเจกต์กลุ่มย่อย ช่วยให้การปรับเปลี่ยน requirement ในระหว่างพัฒนาทำได้ง่ายขึ้น ตลอดจนประเมินความเสี่ยงกับความต่อเนื่องของโปรเจกต์ในเรื่องค่าใช้จ่าย SDLC model นี้เหมาะกับโปรเจกต์ที่มีความซับซ้อนสูง และมีความเสี่ยงที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด

ข้อดีของ Spiral Model

  1. ลดความเสี่ยงได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จากการวิเคราะห์และประเมินอย่างละเอียด เพื่อแก้ไขได้ทันที
  2. การพัฒนาหลายส่วนเป็นอิสระต่อกัน ทำให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมตามความต้องการได้สะดวก
  3. ได้รับไฟนอลซอฟต์แวร์ที่ตรงกับความคาดหวัง และ requirement ทั้งหมด

ข้อพิจารณาของ Spiral Model

  1. การนำ Spiral model มาใช้กับโปรเจกต์ อาจทำให้จบงานได้ล่าช้า เนื่องเพราะมีการแก้ไขตลอดเวลา จึงมักทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นตามมาด้วย
  2. เหมาะสำหรับโปรเจกต์ขนาดปานกลางถึงใหญ่ เพราะต้องใช้ทรัพยากรและเวลาค่อนข้างมาก หากเป็นโปรเจกต์ขนาดเล็ก การเลือกใช้โมเดลนี้จะทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

7. Agile Model

Agile model เป็น SDLC Model ที่เน้นความยืดหยุ่นและการทำงานเป็นทีม การสื่อสารที่คล่องตัวจะช่วยให้สามารถพัฒนาซอฟตแวร์ที่ตอบสนองต่อ requirement ของลูกค้าได้เร็ว นักพัฒนาจะแบ่งโปรเจกต์เป็นส่วนย่อย ที่เรียกว่า Sprint ซึ่งแต่ละ Sprint จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ เพื่อให้ซอฟต์แวร์เสร็จภายในระยะสั้น ๆ แล้วนำไปทดสอบกับผู้ใช้ เพื่อรับฟีดแบคกลับมาปรับปรุงต่อ ใน Sprint ถัดไป

ข้อดีของ Agile Model

  1. มีการสื่อสารกันภายในทีม ตลอดระยะการพัฒนา ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น
  2. โมเดลนี้ช่วยให้นักพัฒนา (Dev) ได้คุยกับ PO หรือผู้ใช้โดยตรง แล้วนำมาอัปเดตให้คนในทีมทราบและเข้าใจตรงกัน
  3. สามารถหยิบงานส่วนที่เคยมีคนทำไว้แล้วมาใช้ หรือพัฒนาต่อยอดได้ โดยที่ไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด

ข้อพิจารณาของ Agile Model

  1. ต้องอาศัยประสบการณ์ และทักษะของทีมนักพัฒนาสูง
  2. โมเดลนี้จะเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกัน หากมีปัญหาส่วนตัวกันภายในทีม หรือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เหล่านี้มักจะทำให้โปรเจกต์เกิดความล่าช้าได้

บทสรุป

สรุปแล้ว SDLC (Software Development Life Cycle) นั้นคือวงจรชีวิตพื้นฐานของซอฟต์แวร์ระยะพัฒนา ที่เริ่มตั้งแต่การวางแผน การออกแบบระบบ การพัฒนากับทดสอบ การนำไปติดตั้งใช้งานจริง และคอยบำรุงรักษาหลังส่งมอบซอฟต์แวร์ กระบวนการทั้งหมดจะถูกดำเนินไปอย่างมีระบบ ช่วยทำให้นักพัฒนาสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และตอบสนองความต้องการของโปรเจกต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แบบแผนการทำงานที่ใช้กับกระบวนการ SDLC ให้อยู่ในกรอบที่ควบคุมได้นั้นมีหลายโมเดล ที่นิยมใช้กันก็จะมี Waterfall model, Iterative model, Spiral model และ Agile model แม้จะมีขั้นตอนกับวิธีการที่ต่างกัน แต่ SDLC model ทั้งหมดก็ล้วนมีเป้าหมายร่วมกัน ในเรื่องการช่วยให้กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นไปได้อย่างราบรื่น และเหมาะสมกับแต่ละโปรเจกต์