Technology

“เว็บไซต์ (Website)” กับทุกเรื่องที่ต้องรู้ ในปี 2024 นี้

March 8, 2024

“เว็บไซต์ (Website)” กับทุกเรื่องที่ต้องรู้ ในปี 2024 นี้

คำว่า “เว็บไซต์ (Website)” เชื่อว่ายุคนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะไม่ว่าจะการศึกษา การท่องเที่ยว การขายของ การสื่อสาร หรือแม้แต่ความบันเทิง ทั้งหมดล้วนเกิดจากการมีเว็บไซต์เป็นตัวกลางสำหรับให้ข้อมูลและบริการต่าง ๆ ถือเป็นสื่อหลักที่เชื่อมต่อกับผู้ใช้ส่วนมากผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เว็บไซต์ นั้นมีหลาย ๆ เรื่องที่จำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาเว็บไซต์ภายในปี 2024 นี้ ให้ออกมาประสบผลสำเร็จ ตั้งแต่รู้จักความหมายแท้จริงของเว็บไซต์ ว่าคืออะไร มีประโยชน์ยังไงบ้าง ไปจนถึงประเภทของเว็บไซต์ และแนวคิดการสร้างเว็บไซต์ที่ดี

เว็บไซต์ (Website) คืออะไร

ย้ำตรงนี้อีกครั้ง ว่าเขียนให้ถูกคือ “เว็บไซต์” แบบนี้เท่านั้น มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Website”

เว็บไซต์ (Website) คือ กลุ่มของเว็บเพจ (Wep page) ภายใต้โดเมนชื่อเดียวกัน ที่เชื่อมโยงถึงกันจากหน้าหนึ่งไปอีกหน้าหนึ่งผ่านลิงก์ มีไว้เพื่อแสดงข้อมูลที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ที่ต้องการมีเว็บไซต์ เช่นเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลบริษัท หรือเพื่อขายของออนไลน์

เว็บไซต์มักถูกสร้างขึ้นด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ HTML, CSS, ASP, PHP, JAVA และอาจมีส่วนการใช้ภาษาสคริปต์อย่าง JavaScript มาพัฒนาคุณสมบัติเว็บไซต์เพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะถูกโฮสต์เก็บไว้บนเว็บเซิร์ฟเวอร์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายภายใน ด้วยการใช้เว็บเบราว์เซอร์ อย่าง Google Chrome, Safari หรือ Microsoft Edge เป็นตัวกลาง

ความหมายแท้จริงของเว็บไซต์ และองค์ประกอบสำคัญต่าง ๆ

เว็บไซต์ ไม่ใช่แค่เพียงหน้าจอที่เราเห็นบนเว็บเบราว์เซอร์เท่านั้น แต่เป็นผลลัพธ์ในการทำงานร่วมกันของหลายองค์ประกอบ สำคัญสุดคือโค้ด (Code) ที่ใช้สำหรับสร้างเว็บไซต์ แบ่งได้เป็นสองส่วนหลัก ต่อไปนี้

  • โค้ดที่ทำงานบนเว็บเซิร์ฟเวอร์ (Server-side Code) เช่น PHP, Python, Ruby, Java ฯลฯ สำหรับใช้จัดการกับฐานข้อมูลหรือ Database เพื่อประมวลผลข้อมูล จัดการตรรกะ และสร้างการตอบสนองต่อคำขอจากผู้ใช้ ก่อนที่จะส่งข้อมูลไปยังเว็บเบราว์เซอร์
  • โค้ดที่ทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ (Client-side Code) เช่น HTML, CSS, JavaScript ฯลฯ สำหรับใช้กำหนดโครงสร้าง รูปแบบ กับการทำงานของหน้าเว็บที่ผู้ใช้เห็นและโต้ตอบได้

ส่วนสำคัญอย่างอื่น ที่จำเป็นต่อการสร้างเว็บไซต์

  1.  ฐานข้อมูล (Database) หรือระบบที่ใช้จัดเก็บ จัดการ และเรียกใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ เช่นระบบข้อมูลสมาชิก หรือสินค้า
  2. เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) บริการที่ให้เช่ายืมพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเว็บไซต์เรา บนพื้นที่ของคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เรียกว่า “เว็บเซิร์ฟเวอร์ (Web server)” ที่มีหลายประเภท เช่น Shared hosting, VPS hosting, Dedicated hosting, Cloud hosting ฯลฯ ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของเว็บไซต์
  3. เว็บดีไซน์ (Web Design) หรือกระบวนการออกแบบหน้าเว็บไซต์ทั้งหมด ให้ดูน่าสนใจและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก การใช้งาน ฟังก์ชันการทำงาน และเป้าหมายที่ต้องการ ให้ออกมาดีตามแนวคิด User-friendly website เพื่อผู้ใช้
  4. การพัฒนาเว็บไซต์ (Web Development) หรือกระบวนการเขียนโค้ด ให้เว็บไซต์ทำงานได้ตามที่ต้องการ มีสองส่วนหลักคือ Front-end Development กับ Back-end Development ที่แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบงานตามโค้ดสองส่วนคือ โค้ดที่ทำงานบนเว็บเซิร์ฟเวอร์ (Server-side Code) กับ โค้ดที่ทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ (Client-side Code)

ประโยชน์ของการมีเว็บไซต์

การมีเว็บไซต์นั้น สามารถช่วยสร้างโอกาสเพื่อความสำเร็จได้หลายด้าน ไม่ว่าจะสำหรับบุคคล องค์กร หรือธุรกิจ ด้วยประโยชน์ของเว็บไซต์ต่อไปนี้

  • เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ใช้งาน เว็บไซต์สามารถเป็นได้ทั้งช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็น หรือความต้องการ ไปสู่กลุ่มผู้ใช้เป้าหมายที่สนใจเหมือนกันได้
  • เพิ่มการมีส่วนร่วม และสร้างคอมมูที่มีประโยชน์ ด้วยการใช้เว็บไซต์เป็นพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างผู้ใช้ที่มีความสนใจกับความเชี่ยวชาญในเรื่องเดียวกัน หรือเป็นสมาชิกขององค์กร/ชุมชน ที่มีวัตถุประสงค์และหน้าที่เหมือนกัน
  • เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วยการตลาดบนเว็บไซต์ เพราะ ‘เว็บไซต์ (Website)’ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์กับความน่าเชื่อถือ ให้กับธุรกิจหรือแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก หรืออาจใช้เว็บไซต์นำเสนอผลิตภัณฑ์กับบริการ เพื่อเป็นตัวกลางในการรับออเดอร์พร้อมชำระเงินทันที ถือเป็นช่องทางคุณภาพที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้ดี

พื้นฐานการสร้างเว็บไซต์ ต้องเข้าใจอะไรบ้าง

การสร้างเว็บไซต์ ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไม่ได้มีวิธีเขียนโค้ดเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำเองด้วยแพลตฟอร์มสร้างเว็บสำเร็จรูป หรือจ้าง outsource อย่างพวกเรา Foxbith ทำให้ได้ แต่เพื่อเว็บไซต์ที่ดี การเข้าใจพื้นฐานต่อไปนี้จะช่วยได้มาก

  1. รู้วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเว็บไซต์ที่ต้องการสร้าง ว่าสร้างเว็บไซต์เพื่ออะไร และอยากให้ทำอะไรได้บ้าง ผู้พัฒนาจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์กับเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อสร้างเว็บไซต์ที่เหมาะสมกับความต้องการผู้ใช้
  2. จัดเตรียมเนื้อหาและโครงสร้างของเว็บไซต์ หลังจากรู้ว่าจะนำเสนออะไรบนเว็บไซต์ กับควรจัดเรียงหน้าเว็บอย่างไร โดยใช้เนื้อหาที่มีคุณภาพ และเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์
  3. รู้จักการใช้เครื่องมือและภาษาสำหรับพัฒนาเว็บไซต์ อีกทั้งต้องรู้เกี่ยวกับวิธีการออกแบบ และกระบวนการพัฒนาเว็บไซต์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรือเลือกจ้างมืออาชีพมาออกแบบให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่จะนำเสนอ และตรงตามวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์
  4. รู้ว่าต้องทดสอบเว็บไซต์ยังไงและต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เมื่อพัฒนาเว็บไซต์เสร็จสิ้นเบื้องต้น ควรมีการทดสอบทุกคุณสมบัติอย่างละเอียด ประกอบด้วยหลายขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อเช็คหาข้อผิดพลาดหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งต้องคอยอัปเดตอยู่เสมอ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถรองรับการใช้งานได้บนทุกอุปกรณ์

รู้จักกับ 9 ประเภทของเว็บไซต์

การจำแนกประเภทเว็บไซต์ สามารถทำได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเนื้อหาของเว็บไซต์ แต่ทั่วไปแล้ว เว็บไซต์จะแบ่งได้ออกเป็น 9 ประเภทตามรูปแบบการใช้งาน ต่อไปนี้

1. เว็บไซต์ส่วนตัว (Personal Website)

Landbook

Personal Website หรือเว็บไซต์ส่วนบุคคล คือเว็บไซต์ที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนบุคคล เช่นอาจเป็นการแนะนำตัวเอง แสดงผลงาน ประวัติการทำงาน ความสนใจ บล็อก หรือใช้แบ่งปันข้อมูลกับผู้อื่น เป็นพื้นที่ออนไลน์ส่วนบุคคลที่ใช้แสดงออกถึงตัวตน และทัศนคติความคิดให้กับผู้ใช้งานทั่วโลก

เว็บไซต์ประเภทนี้ มักมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของเว็บไซต์โดยตรง เช่นประวัติส่วนตัว ผลงาน บทความ รูปภาพ หรืออย่างอื่นอีกมาก และอาจมีลิงก์ไปยังบัญชีผู้ใช้บนสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ต่าง ๆ ด้วยการใช้เว็บไซต์เป็นแหล่งต้นทางรวบรวมข้อมูลกับผลงานของบุคคลนั้นบนโลกออนไลน์ ตัวอย่างเว็บไซต์เช่น Tina Roth Eisenberg (swiss-miss.com) หรือ Debbie Millman (debbiemillman.com)

2. เว็บไซต์ขายของออนไลน์ (E-Commerce Website)

E-Commerce Website หรือเว็บไซต์ขายของออนไลน์ หมายถึงเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้บริการซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์โดยเฉพาะ ทำหน้าที่เป็นหน้าร้านค้าออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าชมสินค้าและบริการต่าง ๆ พร้อมชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ได้สะดวก

ปัจจุบัน เว็บไซต์ขายของออนไลน์ได้เข้ามาเป็นบทบาทสำคัญ ในการดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัล เพราะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน ขยายฐานลูกค้าไปในวงกว้าง และยังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการได้

ผู้ประกอบการสามารถเลือกนำเสนอสินค้า และบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์ E-commerce ของตนเอง หรือแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ อย่างเช่น Amazon, eBay, Lazada หรือ Shopee ได้

3. เว็บไซต์ธุรกิจ (Business Website)

Business Website หรือเว็บไซต์ธุรกิจ คือเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจขององค์กรหรือบริษัท ไม่ว่าจะการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ ช่วยให้รับรู้ถึงคุณค่าจุดเด่นธุรกิจได้ง่ายขึ้น

นอกเหนือจากใช้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ เว็บไซต์ธุรกิจยังสามารถใช้เป็นได้ทั้งช่องทางการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า รับฟีดแบ็ค และเพิ่มยอดขายผ่านการทำการตลาดออนไลน์ได้ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เว็บไซต์ขนาดเล็กสำหรับธุรกิจขนาดย่อม ไปจนเว็บไซต์ที่มีความซับซ้อนสูงสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ตัวอย่างเว็บไซต์เช่น บริษัท Apple (apple.com) , บริษัท Nike (nike.com) หรือบริษัท Coca-Cola (coca-cola.com)

4. เว็บไซต์ข่าว (News Website)

News Website หรือเว็บไซต์ข่าว เป็นเว็บไซต์แหล่งสื่อออนไลน์ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ปัจจุบันต่าง ๆ ให้กับผู้อ่าน อาจครอบคลุมได้หลากหลายประเภทข่าว เช่นข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา บันเทิง เทคโนโลยี ฯลฯ ด้วยการรายงานข่าวเนื้อหาใหม่อย่างต่อเนื่อง

การนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ข่าว มักจะเลือกใช้รูปแบบที่เข้าใจง่าย มีการจัดหมวดหมู่ข่าวเป็นระบบ และมีการใช้รูปภาพ วิดีโอ หรือสื่อมัลติมีเดีย เพื่อดึงความสนใจของผู้ใช้ อีกทั้งสามารถแสดงความคิดเห็น และแบ่งปันข่าวผ่านช่องทางออนไลน์อื่นได้อีก ตัวอย่างเว็บไซต์เช่น Cable News Network (edition.cnn.com) , The New York Times (nytimes.com) หรือ British Broadcasting Corporation (bbc.com)

5. เว็บไซต์การศึกษา (Educational Website)

Educational Website หรือเว็บไซต์การศึกษา คือเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์การให้การศึกษาและการเรียนรู้ เว็บไซต์ประเภทนี้มักจะแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบ บทเรียน วิดีโอ การทดสอบ หรือคอร์สออนไลน์ โดยผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านอินเทอร์เน็ต

เว็บไซต์การศึกษา สามารถเป็นได้ทั้งแหล่งศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เพราะบางเว็บไซต์อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษา ที่ทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของหลักสูตร ขณะที่บางเว็บไซต์อาจเป็นโครงการอิสระ ที่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับหัวข้อเฉพาะทาง ตัวอย่างเว็บไซต์เช่น Khan Academy (khanacademy.org) , Coursera (coursera.org) หรือ edX (edx.org)

6. เว็บบันเทิง (Entertainment Website)

Entertainment Website หรือเว็บบันเทิง คือเว็บไซต์รวมเนื้อหากับกิจกรรมทางออนไลน์ ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อความบันเทิงและผ่อนคลายความเครียด ด้วยการนำเสนอเนื้อหาหลากหลายประเภท เช่นภาพยนต์ ละคร เพลง เกม รายการวาไรตี้ หรือข่าวบันเทิงต่าง ๆ

เว็บบันเทิงมักจะถูกออกแบบให้ดูดีและน่าสนใจเป็นพิเศษ เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้เข้าชมและใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพราะโฆษณาถือเป็นรายได้หลักของเว็บบันเทิงเหล่านี้ หรือบางเว็บไซต์อาจใช้ระบบสมัครสมาชิกพรีเมี่ยม กับการขายสินค้าแบรนด์ของตนเองไปด้วย ตัวอย่างเว็บไซต์เช่น Netflix (netflix.com) , Youtube (youtube.com) หรือ IGN (ign.com)

7. เว็บไซต์องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (Non-profit Website)

Non-profit Website หรือเว็บไซต์องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร หมายถึงเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นโดยองค์กรที่ไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อแสวงหากำไร แต่เน้นไปที่การทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ การกุศล หรือการส่งเสริมเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

เว็บไซต์เหล่านี้ ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูล สร้างความตระหนักถึงบางสิ่ง รวบรวมเงินบริจาค หรือใช้เป็นช่องทางโปรโมทกิจกรรมและโครงการขององค์กร มีลักษณะแตกต่างจากเว็บไซต์ธุรกิจทั่วไป โดยเน้นการนำเสนอข้อมูลกับเนื้อหาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ มากกว่าการขายสินค้าหรือบริการ ตัวอย่างเว็บไซต์เช่น UNICEF (unicef.org) , Greenpeace (greenpeace.org) และ Amnesty International (amnesty.org)

8. เว็บไซต์ข้อมูล (Information Website)

Information Website หรือเว็บไซต์ข้อมูล คือเว็บไซต์ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ข้อมูล ความรู้ หรือเนื้อหาสาระต่าง ๆ แก่ผู้ใช้ ไม่เน้นการขายสินค้าและบริการ เว็บไซต์ประเภทนี้มักถูกสร้างขึ้นโดยหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือแม้แต่บุคคลที่ชำนาญในสาขาตนเอง แล้วต้องการแบ่งปันข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ตัวอย่างเว็บไซต์เช่น Wikipedia (wikipedia.org) หรือ NASA (nasa.gov)

9. เว็บบอร์ดออนไลน์ (Online Forum Website)

เว็บบอร์ดออนไลน์ หรือ “ฟอรัม (Forums)” เป็นเว็บไซต์พื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์ ที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล และประสบการณ์กันได้ ทำงานคล้ายกับห้องสนทนาขนาดใหญ่ที่แบ่งออกเป็นหลายหัวข้อและหมวดหมู่ โดยผู้ใช้สามารถสร้างกระทู้ใหม่เพื่อเสนอคำถาม ความคิดเห็น หรือหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ และเปิดให้ผู้ใช้คนอื่นเข้ามาแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกับคำถาม หรือแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมในกระทู้นั้นได้

การใช้งานเว็บบอร์ดออนไลน์ส่วนใหญ่จะต้องสมัครสมาชิก เพื่อให้สามารถโพสต์ข้อความ แนบไฟล์ หรือรูปภาพประกอบได้ โดยระบบจะมีการจัดการสิทธิ์ให้กับสมาชิกแต่ละประเภท เช่นสมาชิกทั่วไป หรือผู้ดูแลระบบ เพื่อรักษาระเบียบและป้องกันการละเมิดกฎของเว็บบอร์ด ตัวอย่างเว็บไซต์เช่น Reddit (reddit.com) , Stack overflow (stackoverflow.com) หรือ Quora (quora.com)

เว็บไซต์ที่ดี ควรเป็นอย่างไร

เพราะ เว็บไซต์ (Website) ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญ ในการดำเนินชีวิตกับการทำธุรกิจยุคปัจจุบันมากขึ้น หากต้องการทำเว็บไซต์ให้กลายเป็นช่องทางที่คาดหวังผลลัพธ์ได้ เราก็มีหลักคิดการทำเว็บไซต์ที่ดีมาแนะนำ ต่อไปนี้

  1. เข้าถึงได้ง่ายจากทุกอุปกรณ์ และทุกเว็บเบราว์เซอร์ ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แทบเล็ต และโดยเฉพาะสมาร์ทโฟน เว็บไซต์ควรผ่านการออกแบบให้เหมาะสมกับขนาดหน้าจอที่เหมาะสมกับความละเอียด รวมถึงปฏิบัติตามมาตรฐานการเข้าถึงเว็บ (Web accessibility) ที่ช่วยให้ผู้บกพร่องทางสายตาหรือการได้ยิน สามารถใช้งานเว็บไซต์ได้
  2. โหลดแสดงผลหน้าเว็บได้เร็ว ทั้งเนื้อหาภายและคุณสมบัติการใช้งานได้เร็ว ไม่ทำให้ผู้ใช้รอนาน ด้วยการลดขนาดของไฟล์หรือรูปภาพในเว็บไซต์ และอาจใช้เครื่องมือกับเทคนิคช่วยเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ เช่นการใช้แคช (Cache) การใช้ CDN (Content delivery network) หรือการใช้ Gzip (Compression)
  3. น่าสนใจ และดึงดูดสายตา ผ่านการเลือกใช้สี รูปแบบ ภาพ ไอคอน หรือฟอนต์ ที่เหมาะสมกับเนื้อหาและเป้าหมายของเว็บไซต์ อาจเลือกใช้ภาพเคลื่อนไหวหรือวิดีโอ เพื่อช่วยเสริมความแปลกใหม่ในการสื่อสารข้อความได้ ไม่ควรเลือกใช้สีหรือภาพที่ทำให้ผู้ใช้สับสน
  4. ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนจนงง ด้วยการออกแบบจัดเรียงเนื้อหา กับทุกคุณสมบัติใช้งานให้เป็นระเบียบมีลำดับชัดเจน และควรมีการใช้เมนู หรือปุ่ม สำหรับช่วยนำทางให้ผู้ใช้เข้าถึงเนื้อหาที่ต้องการได้ รวมทั้งการเลือกใช้ภาษากับคำสั่งที่เข้าใจง่าย ไม่สร้างความสับสน
  5. สร้างความน่าเชื่อถือ กับความไว้ใจให้ผู้ใช้ ว่าเว็บไซต์จะปกป้องข้อมูลจากการถูกแฮ็กหรือขโมยข้อมูล และเนื้อหาที่นำมาเสนอ ก็ควรมีความถูกต้องและเป็นประโยชน์ ไม่มั่วขึ้นมาเอง หากหยิบยืมมาจากแหล่งอื่น ก็ต้องให้เครดิตกับต้นทางด้วยการใส่แหล่งอ้างอิง (Reference) ลงไปด้วย

บทสรุป

สรุปแล้ว เว็บไซต์ (Website) คือชุดของหน้าเว็บ (Web pages) ที่เชื่อมโยงกันด้วยการคลิกลิงก์ เพื่อเปิดหน้าเว็บอื่นภายในเว็บไซต์ ถูกพัฒนาขึ้นโดยภาษาคอมพิวเตอร์หลักสำหรับพัฒนาเว็บ อย่าง HTML, CSS และ JavaScript เว็บไซต์สามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยการใช้เว็บเบราว์เซอร์เช่น Google Chrome, Safari หรือ Microsoft Edge เป็นตัวกลาง

เว็บไซต์สามารถมีวัตถุประสงค์ กับหน้าที่การใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่การให้ข้อมูล การซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ การเผยแพร่ข่าวสาร การให้ความบันเทิง และอย่างอื่นอีกมาก แต่พื้นฐานสำคัญของเว็บไซต์ที่ดี คือควรต้องเข้าถึงได้ง่ายทุกอุปกรณ์ โหลดแสดงผลหน้าเว็บได้เร็ว ดูน่าสนใจดึงดูดสายตา และใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อนจนงง

ทำเว็บไซต์กับพวกเรา Foxbith เราช่วยคุณได้

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านคงได้เข้าใจคำว่า เว็บไซต์ (Website) มากขึ้นกันแล้ว ตั้งแต่ว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ทั้งยังได้รู้จักกับ 9 ประเภทเว็บไซต์ พร้อมตัวอย่าง

“แล้วถ้าอยากเริ่มสร้างเว็บไซต์ ต้องทำยังไง” ยิ่งถ้าเป็นเว็บไซต์เพื่อการทำธุรกิจด้วยแล้ว จะดีกว่าไหมครับ ถ้าให้มืออาชีพมาช่วยรับผิดชอบส่วนงานตรงนี้ทั้งหมด

เพราะเราไม่ใช่แค่ รับจ้างทำเว็บไซต์ให้ แต่เรายังมี insight ที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจของลูกค้า เพื่อให้ผลงานเว็บไซต์ที่ทำออกมานั้น มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ที่คุณต้องการ