Technology

10 หลักการออกแบบเว็บไซต์ | รู้ไว้ ใช้ได้จริง

April 23, 2024

10 หลักการออกแบบเว็บไซต์ | รู้ไว้ ใช้ได้จริง

การออกแบบเว็บไซต์ที่ดี นั้นไม่ใช่แค่การทำให้สวยตามใจผู้ออกแบบ แต่ต้องคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก ต้องตอบโจทย์การใช้งาน สามารถรองรับได้ทุกขนาดหน้าจอ เข้าถึงง่าย โหลดไว และปลอดภัยตลอดการใช้งาน ขณะเดียวกันก็ต้องนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ทั้ง Animation, AI หรือ Chatbots เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งาน (User experience) ที่ดีขึ้นได้อีก

อย่างที่กล่าวไปว่า การออกแบบเว็บไซต์ นั้นไม่ใช่ทำแค่สวยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้เว็บไซต์เป็นหลัก ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปรายวัน ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้นผ่านหลายอุปกรณ์ ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน

การจะออกแบบเว็บไซต์ที่ดี จึงควรสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าชม และทำให้อยากกลับมายังเว็บไซต์ของเราอีกในอนาคต อีกทั้งยังส่งผลดีกับการทำการตลาดเว็บไซต์อย่าง SEO หรือ Google Ads อีกด้วย

บทความนี้ พวกเราเราขอนำเสนอ 10 หลักการออกแบบเว็บไซต์ ที่ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเว็บไซต์ใช้เป็นแนวทางในการทำงาน รวมทั้งอธิบายถึงขั้นตอนการออกแบบเว็บไซต์อย่างละเอียด เพื่อให้นักพัฒนาเว็บไซต์ทั้งมือใหม่และมืออาชีพ สามารถนำไปใช้ประยุกต์ต่อยอดได้จริง

หลักการออกแบบเว็บไซต์ 10 ข้อ

การออกแบบเว็บไซต์ให้ดูดีและใช้งานมีประสิทธิภาพนั้น ผู้ออกแบบจำเป็นต้องอาศัยทั้งความรู้กับประสบการณ์หลายด้าน รวมถึงต้องเข้าใจหลักการออกแบบเว็บไซต์พื้นฐานที่สำคัญ 10 ข้อต่อไปนี้ แล้วนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม

1. ออกแบบเพื่อผู้ใช้ ไม่ใช่แค่สวยงาม (User-Centered Design)

หัวใจสำคัญของการออกแบบเว็บไซต์ ข้อแรกคือการนึกถึงผู้ใช้เป็นหลัก (User-Centered Design) เริ่มตั้งแต่ทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้เป้าหมายจนถ่องแท้ ว่าคือใคร มีความต้องการอะไร และพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์เป็นอย่างไร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการออกแบบเว็บ

ไม่ว่าจะการออกแบบ UI (User Interface) และ UX (User Experience) ให้ใช้งานง่าย เมนูไม่ซับซ้อน สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็ว มีความสอดคล้องในทุกหน้าของเว็บไซต์ หรือกระทั่งการวาง layout อย่างเป็นระเบียบ รูปแบบและขนาดตัวอักษรที่อ่านง่าย ทั้งหมดล้วนทำเพื่อให้กลุ่มผู้ใช้งานเว็บไซต์เรา ได้รับประสบการณ์ที่พึงพอใจที่สุด

หมายความว่า การออกแบบหน้าเว็บไซต์ที่เน้นสวยเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้แล้วในยุคนี้ เพราะสุดท้าย เว็บไซต์คือมีไว้เพื่อให้ผู้คนเข้ามาใช้งาน การทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งปัญหาที่พวกเขาเจอและสิ่งที่พวกเขาต้องการ จะล้วนมีประโยชน์ต่อการออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นต่อไปได้

2. ปรับให้เข้ากับทุกอุปกรณ์ (Responsive Design)

Responsive Design คือการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ให้สามารถปรับขนาดกับเลย์เอาท์ได้เหมาะกับหน้าจอของแต่ละอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเปิดผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ก็จะแสดงผลได้พอดีเสมอ ช่วยให้ใช้งานสะดวก

ในยุคที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ mobile อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต การออกแบบเว็บไซต์ให้แสดงผลได้ดีเฉพาะหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ส่วนมาก ที่ใช้ mobile เข้าถึงเว็บไซต์จากอุปกรณ์ที่มีความกว้างกับความละเอียดของหน้าจอหลากหลายได้

การใช้ CSS media queries, Flexbox และ CSS Grid จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยทำให้เว็บไซต์แสดงผลได้ยืดหยุ่นบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนการจัดวางองค์ประกอบทุกอย่างในหน้าเว็บไซต์ตามขนาดหน้าจอ เช่น menu และ content ที่วางเรียงกันในแนวนอนบนจอคอม แต่จะปรับเป็นเรียงแนวตั้งเมื่อแสดงผลบนมือถือ รวมทั้งภาพประกอบ และวิดีโอที่ถูกปรับขนาดให้พอดีกับหน้าจอตามไปด้วย

3. เรียบง่ายแต่มีพลัง (Minimalism)

Minimalist Design กำลังเป็นเทรนด์ออกแบบเว็บไซต์ที่นิยมส่วนใหญ่ตอนนี้ เพราะเน้นความเรียบง่าย และตัดทอนองค์ประกอบไม่จำเป็นออกไป แต่ยังคงรู้สึกดูดีและใช้งานง่าย สามารถช่วยโฟกัสความสนใจของผู้ใช้ไปยังเนื้อหาสำคัญได้ถูก และค้นหาข้อมูลที่ต้องการภายในเว็บไซต์ได้สะดวก

หลักการออกแบบหน้าเว็บไซต์แบบ Minimalist นั้น จะไม่ใช่แค่การลดทอนองค์ประกอบไม่จำเป็น แต่รวมไปถึงการใช้ Negative Space หรือพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้าง Visual Hierarchy ที่ช่วยให้ผู้ใช้รับรู้ถึงลำดับความสำคัญขององค์ประกอบต่าง ๆ บนหน้าเว็บ

การเลือกใช้สีที่เข้ากันก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ โดยมักจะใช้สีที่เรียบง่าย อย่างสีหลัก (ขาว, ดำ, เทา) และสีรอง (เอิร์ธโทน, พาสเทล, สดใส) หรืออาจเลือกใช้สีที่สื่อถึงตัวตนของแบรนด์ไปเลย

4. หน้าเว็บโหลดไวทันใจ (Fast Page Loading)

ต่อให้ออกแบบเว็บไซต์ดีเลิศขนาดไหน แต่ถ้าหน้าเว็บไซต์โหลดช้าเกินไป แนวโน้มที่ผู้ใช้จะเบื่อและคลิกออกจากเว็บไปจะสูงมาก เพราะ Page Speed เป็นปัจจัยสำคัญอย่างนึงที่ต้องใส่ใจ โดยเฉพาะบนอุปกรณ์ mobile ที่มีข้อจำกัดเรื่องความเร็วเน็ตกับทรัพยากรประมวลผล

นอกเหนือการเลือกโฮสติ้งเว็บไซต์ที่เสถียร การออกแบบเว็บไซต์ก็สามารถช่วยเรื่อง Page Speed ได้เช่นกัน อย่างการใช้ภาพขนาดเล็ก การใช้ lazy loading โหลดภาพหรือองค์ประกอบเฉพาะส่วนที่ผู้ใช้มองเห็นก่อน การลดจำนวน HTTP Request ให้เหลือน้อยที่สุด หรือการเลือกใช้ CSS มากกว่ารูปภาพในการตกแต่ง รวมทั้งการใช้ browser caching เพื่อให้เว็บเบราว์เซอร์เก็บข้อมูลบางส่วนไว้ในเครื่องของผู้ใช้ จะยิ่งช่วยทำให้เว็บไซต์โหลดได้เร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

5. ภาพและวิดีโอสื่อความหมายชัดเจน (Use of Images and Videos)

ทั้งภาพและวิดีโอบนหน้าเว็บไซต์ สามารถใช้เพิ่มความน่าสนใจ และอธิบายเนื้อหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ ดังคำกล่าวว่า "A picture is worth a thousand words." ภาพเพียงภาพเดียว สามารถสื่อความหมายได้มากกว่าตัวหนังสือนับพันคำ วิดีโอก็เช่นกัน เพราะช่วยอธิบายหรือสาธิตหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายมากขึ้น การเลือกใช้ภาพหรือวิดีโอในเว็บไซต์ ควรจะต้องคำนึงตั้งแต่เรื่องคุณภาพ ขนาดไฟล์ ความเหมาะสมกับเนื้อหา และลิขสิทธิ์

ภาพที่ใช้ควรมีความคมชัด แต่ขนาดไฟล์ไม่ควรใหญ่จนกระทบ Page Speed และเลือกภาพที่สอดคล้องกับเนื้อหา มีความเฉพาะเจาะจง ไม่ใช้ภาพแบบกว้าง ๆ ทั่วไป หากเลือกใช้อย่างเหมาะสม จะยิ่งเสริมให้เว็บไซต์ดูน่าสนใจขึ้น และไม่ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพทำงานโดยรวม นอกจากนี้การใส่ Alt Text กำกับ ยังช่วยให้ Search Engine เข้าใจและจัดอันดับเว็บไซต์ได้ดีขึ้นได้ด้วย

6. เข้าถึงได้ง่ายทุกคน (Accessibility)

Web Accessibility คือการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์สำหรับผู้ใช้ทุกคน รวมทั้งผู้พิการ ให้สามารถเข้าถึงและใช้งานเว็บได้ไม่มีปัญหา ระหว่างขั้นตอนการสร้าง ผู้พัฒนาจึงควรตระหนักเรื่องการออกแบบเว็บไซต์เพื่อผู้ใช้ที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ตั้งแต่การใส่ Alt Text ให้กับรูปภาพ การใช้ heading และ landmark ในการกำหนดโครงสร้างของเนื้อหา การใช้สีที่มีความคมชัดเพียงพอระหว่างข้อความกับพื้นหลัง การออกแบบให้รองรับการใช้งานคีย์บอร์ด การจัดทำ transcript สำหรับวิดีโอหรือไฟล์เสียง หรือการใช้ ARIA attributes เพื่ออธิบายหน้าที่แต่ละองค์ประกอบบนหน้าเว็บ สิ่งเหล่านี้ ล้วนช่วยขยายฐานผู้ใช้งานเว็บไซต์ให้กว้างขึ้นได้

7. มือถือ คืออันดับแรก (Mobile First)

ยุคที่สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต การออกแบบเว็บไซต์ปัจจุบัน จึงต้องเน้นไปที่ Mobile First มากขึ้น

แนวคิดนี้คือการออกแบบเว็บ ให้เหมาะสมกับหน้าจอขนาดเล็กของมือถือเป็นอันดับแรก และขยายไปยังหน้าจอขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ ต่างจากแนวคิดเดิมที่ออกแบบเพื่อ Desktop ก่อนแล้วย่อลงมาให้เข้ากับมือถือ

การออกแบบเว็บไซต์แบบ Mobile First จะช่วยบังคับให้ต้องจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา เลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็น และต้องออกแบบ UI ในขนาดที่เหมาะกับนิ้วมือสัมผัส แถมแนวคิดนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่อง Page Speed ได้อีกทางหนึ่ง เพราะเว็บไซต์ถูกออกแบบให้เหมาะกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรบนมือถือ

8. ใช้ Animation และ Microinteractions เสริมให้น่าสนใจ

Animation ในเว็บไซต์สมัยใหม่ จะไม่มีข้อจำกัดอยู่แค่ภาพเคลื่อนไหวธรรมดาอีกต่อไป แต่กลายเป็นการมอบประสบการณ์ใช้งานที่น่าประทับใจให้กับผู้ใช้ ด้วยเทคนิคการเคลื่อนไหวที่กลมกลืนไปกับการใช้งาน หรือเรียกว่า Microinteractions การเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ที่สอดแทรกอยู่บนหน้าเว็บไซต์ เพื่อโต้ตอบกับผู้ใช้ในเกือบทุกการกระทำ

ตัวอย่าง Microinteractions ที่มักเห็นบ่อย ๆ เช่นปุ่มนูนขึ้นเล็กน้อยเมื่อผู้ใช้วางเมาส์ เส้นใต้ลิงก์ขยายออกเมื่อเลื่อนเมาส์ผ่าน หรือข้อความใน Search Bar หายไปเมื่อคลิก

แต่การใช้ Animation ที่เกินจำเป็น อาจทำให้ไปรบกวนสมาธิของผู้ใช้ได้ การใช้งานจึงควรพอเหมาะ เน้นไปที่การสื่อสารและช่วยให้ใช้งานได้ง่าย ไม่ควรทำให้หน้าเว็บดูวุ่นวายเกินจำเป็น และควรมี option ให้เลือกปิดใช้งานได้ด้วย เพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้ที่ไม่ต้องการ หรือมีปัญหากับภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ

9. พลังของ  Chatbots และ AI

ในยุคที่ AI มาแรง เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการออกแบบเว็บไซต์สมัยใหม่ หนึ่งในนั้นคือการนำ Chatbots หรือระบบแชทอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ ที่จะคอยตอบคำถาม ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็ว

เพราะ Chatbots สามารถบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ในเวลาที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ ช่วยประหยัดได้ทั้งเวลาและลดภาระงานของฝ่ายบริการลูกค้าได้มากทีเดียว ทุกวันนี้มีหลายเว็บไซต์เริ่มนำ Chatbots มาใช้ ด้วยการวางตำแหน่งในจุดที่สังเกตเห็นง่าย เช่นมุมล่างขวาของหน้าเว็บ ช่วยให้สอบถามปัญหาหรือขอรับความช่วยเหลือได้ทันที

Chatbots ยุคใหม่นี้ ที่ใช้ AI ในการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) จะสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าและโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น ยิ่งบางระบบอาจใช้ Machine Learning เพื่อเรียนรู้ และปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้วยตัวเองได้ ส่งผลช่วยให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ตรงจุดมากขึ้นไปอีก

10. รักษาความปลอดภัยของผู้ใช้ (Security)

ทุกวันนี้เรื่องความปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัว กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้ใช้จะต้องมั่นใจว่าข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด การออกแบบเว็บไซต์จึงต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลส่วนตัว และการทำธุรกรรมออนไลน์ของผู้ใช้อย่างรอบคอบ เริ่มตั้งแต่การใช้ SSL Certificate สำหรับเข้ารหัสการสื่อสารระหว่างเบราว์เซอร์กับเว็บไซต์ นำไปสู่การใช้ HTTPS เพื่อให้การส่งข้อมูลมีความปลอดภัยมากขึ้น

อย่างการออกแบบระบบลงชื่อเข้าใช้ (Login) ที่กำหนดความยาวและความซับซ้อนขั้นต่ำของรหัส การพิจารณาใช้การยืนยันตัวตนสองชั้น (Two-factor Authentication) สำหรับเว็บไซต์ที่มีข้อมูลสำคัญ หรืออาจเพิ่มทางเลือกการลงชื่อเข้าใช้ผ่านบัญชีโซเชียลมีเดีย เพื่ออำนวยสะดวกให้กับผู้ใช้

ส่วนแบบฟอร์มที่เก็บข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร หรือข้อมูลบัตรเครดิต จะยิ่งต้องมีมาตรการในการปกป้องข้อมูลเหล่านั้นอย่างดีที่สุด ไม่ให้รั่วไหลไปสู่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกัน หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้

ขั้นตอนการออกแบบเว็บไซต์

หลังทำความเข้าใจกับ 10 หลักการออกแบบเว็บไซต์ไปแล้ว คราวนี้มาลองดูกันว่า ขั้นตอนการออกแบบเว็บไซต์ตั้งแต่เริ่มต้น มีอะไรบ้าง เพื่อให้เว็บไซต์ที่เราลงทุนสร้างขึ้นมา ตอบโจทย์ได้ทั้งทางด้านธุรกิจและตัวผู้ใช้งาน  

1. เข้าใจเป้าหมายและรู้จักกลุ่มผู้ใช้งาน

ก่อนเริ่ม การออกแบบเว็บไซต์ สิ่งสำคัญคือต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนก่อน คล้ายกับการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ที่ต้องรู้ว่าอยากได้อะไรจากเว็บไซต์นี้ เช่น ต้องการแนะนำสินค้าและบริการ ต้องการขายของออนไลน์ ให้ข้อมูลความรู้ หรือใช้สร้างชุมชน/แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนอะไรกันบางอย่าง

วัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ย่อมส่งผลต่อกลยุทธ์และรูปแบบของเว็บไซต์ที่จะทำ อย่างเว็บอีคอมเมิร์ซที่เน้นการจัดหมวดหมู่สินค้า ขั้นตอนการสั่งซื้อและชำระเงิน ต่างจากเว็บองค์กรที่จะเน้นการสื่อสารตัวตนของแบรนด์ผ่านการออกแบบเว็บไซต์มากกว่า

นอกจากเข้าใจเป้าหมาย การรู้จักกลุ่มผู้ใช้งานเว็บไซต์ก็สำคัญมากเช่นกัน ที่จะต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด ว่าเป็นใคร มีพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไร หรือให้ความสนใจในเนื้อหาประเภทไหน ทั้งข้อมูลทางประชากรศาสตร์ จิตวิทยา และความสนใจ การรู้ insight ของกลุ่มผู้ใช้เหล่านี้ จะยิ่งช่วยให้เข้าใจ pain points กับความต้องการของผู้ใช้ได้ลึกซึ้งมากขึ้น

2. ออกแบบโครงสร้างให้เห็นเค้าโครงเว็บไซต์

หลังเข้าใจเป้าหมายการออกแบบเว็บไซต์ กับกลุ่มผู้ใช้แล้ว ต่อไปให้เริ่มออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์คร่าว ๆ หรือที่เรียกว่า Sitemap

Sitemap เป็นแผนผังเว็บไซต์ที่แสดงลำดับชั้นความสัมพันธ์ของหน้าเว็บ ช่วยให้มองภาพรวมของเว็บไซต์ออกตั้งแต่เริ่มต้น ว่ามีหน้าหลัก/หน้าย่อยอะไรบ้าง และแต่ละหน้าเชื่อมโยงกันยังไง

จากนั้นลงมือร่าง Wireframe เพื่อวางโครงสร้างหน้าเว็บแต่ละหน้า ว่าจะมีองค์ประกอบอะไร จัดวางตำแหน่งอย่างไร เมื่อทำ Wireframe เสร็จจะเริ่มเห็นโครงร่างเว็บไซต์ที่ชัดเจนขึ้น ทั้งการจัดวางและลำดับการนำเสนอเนื้อหา

ในขั้นตอนนี้ จะยังไม่ต้องใส่รายละเอียดมากนัก แต่เน้นไปที่การจัดโครงสร้างให้เหมาะสมกับเนื้อหา และออกแบบ user flow ให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลสำคัญได้ง่ายที่สุดก่อน เมื่อได้เค้าโครงเว็บไซต์ที่ชัดเจนแล้ว ก็จะใช้เป็นพื้นฐานต่อยอดในขั้นตอนออกแบบ UI ต่อไป

3.ออกแบบ UI/UX ให้ผู้ใช้หลงใหลในทุกคลิก

เมื่อได้โครงสร้างหลักเว็บไซต์ ต่อมาคือการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ (User Interface) ที่ต้องนึกถึงประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้งาน (User Experience) เป็นหลัก เพื่อให้ผู้ใช้อยากอยู่เว็บไซต์เราต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยการออกแบบที่สะดุดตา ใช้งานสะดวก มีปุ่มและเมนูชัดเจน เมื่อคลิกแล้วสามารถพาไปหน้าที่ต้องการได้

ตั้งแต่การเลือกสีควรใช้ที่สอดคล้องกับ Mood and Tone ของแบรนด์ ใช้ Color Scheme ที่เป็นเอกลักษณ์ สะดุดตา แต่ไม่ฉูดฉาดเกินไป พยายามเลือกฟอนต์ที่อ่านง่าย เหมาะกับสไตล์ของเว็บไซต์ ใช้ขนาดตัวอักษรที่ไม่เล็กหรือใหญ่เกิน และการเลือกใช้กราฟิกกับรูปภาพจะต้องรู้สึกสอดคล้องกันทั้งเว็บไซต์

นอกจากนี้ยังต้องทดสอบ UX จริงกับผู้ใช้ ดูว่าใช้งานได้ราบรื่นดี หรือมีจุดติดขัดสับสนอะไรไหม เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น การออกแบบ UI/UX ที่ดีจะทำให้ผู้ใช้อยากเข้าเว็บไซต์ซ้ำ เกิดความประทับใจ และอาจแนะนำต่อให้คนรู้จักใกล้ตัว นำไปสู่การเพิ่มจำนวนผู้ใช้ในระยะยาวได้

4. ลงมือพัฒนาเว็บไซต์ตามที่ออกแบบ

ในขั้นตอนพัฒนาเว็บไซต์นี้ ทีมพัฒนาจะนำ UI ที่ได้รับมาแบ่งเป็นส่วน และเขียนโค้ดเพื่อให้แสดงผลผ่านเว็บเบราว์เซอร์ได้ตามที่ออกแบบไว้

ประกอบอยู่สองส่วน คือส่วนของ Front-end ที่รับผิดชอบการเขียน HTML เพื่อกำหนดโครงสร้างหน้าเว็บ การเขียน CSS เพื่อจัดรูปแบบแสดงผลขององค์ประกอบ อย่างสี ฟอนต์ ระยะห่าง animation และการเขียน JavaScript เพื่อเพิ่มลูกเล่นให้หน้าเว็บไซต์ดูน่าสนใจขึ้น เช่นการ validate ฟอร์ม การแสดง pop-up ฯลฯ

ส่วนเบื้องหลังเว็บไซต์ จะเป็นงานของ Back-end ที่รับข้อมูลจาก front-end แล้วไปประมวลผลบน server ติดต่อกับฐานข้อมูล ก่อนจะส่งผลลัพธ์กลับมาแสดงผลบนหน้าเว็บ ภาษาโปรแกรมที่นิยมใช้พัฒนา back-end ก็เช่น PHP, Python, Ruby on Rails หรือ Node.js ทั้งยังต้องจัดการกับฐานข้อมูลเพื่อเก็บ data ของเว็บไซต์เราด้วย เช่นข้อมูลสมาชิก เนื้อหาในเว็บ และคำสั่งซื้อ ด้วยการใช้ระบบฐานข้อมูลอย่าง MySQL, MongoDB, PostgreSQL

5. ทดสอบและปรับแต่ง

ก่อนเปิดตัวเว็บไซต์เพื่อใช้งานจริง จะต้องมีการทดสอบการทำงานของเว็บไซต์อย่างละเอียดก่อน ทั้งในแง่ functionality ว่าทุกส่วนทำงานได้ตามที่ออกแบบไว้หรือไม่ รวมถึงทดสอบ performance อย่างความเร็วในการโหลดหน้าเว็บ การรองรับใช้งานบนทุกอุปกรณ์กับบราว์เซอร์ที่หลากหลาย

นอกจากแก้ไขข้อบกพร่อง ในขั้นตอนนี้จะยังสามารถเพิ่มฟีเจอร์อย่างอื่น เข้าไปได้เรื่อย ๆ เพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอ และควรมีการวัดผลการใช้งานของผู้ใช้เป็นระยะ ผ่านการเก็บสถิติของ Google Analytics สำหรับใช้ดูปริมาณผู้เข้าชม หน้าที่ได้รับความนิยม เวลาที่ใช้ในเว็บไซต์ การเด้งออกจากหน้าแรก ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปรับปรุงเว็บไซต์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

6. โปรโมทเว็บไซต์

มีเว็บไซต์ที่ดีอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องทำให้คนรู้จักและเข้ามาใช้เว็บไซต์ได้ถึงจะเกิดประโยชน์ เริ่มจากการทำ SEO (Search Engine Optimization) ทั้ง On-page และ Off-page เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับต้น ๆ ใน Search Engine ผ่านการสร้างเนื้อหาคุณภาพ ที่ตรงกับความต้องการค้นหาของผู้ใช้ และได้รับลิงก์เชื่อมโยงจากเว็บไซต์อื่นเข้ามา

นอกจาก SEO แล้ว ยังสามารถใช้เครื่องมือการตลาดอย่าง Google Ads และ Facebook Ads เพื่อโฆษณาแบบเสียเงิน กรณีที่ต้องการให้เว็บไซต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงทันทีได้ หรือการทำ Content Marketing ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ควบคู่ไปกับการแนะนำสินค้าหรือบริการของเรา การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือการร่วมมือกับ Influencer เพื่อให้ Review แนะนำเว็บไซต์ ให้กับผู้ติดตามในวงกว้าง

สุดท้ายคือต้องอาศัยการวัดผล กับวิเคราะห์ข้อมูลใช้งานเว็บไซต์ของผู้ใช้ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมแล้วนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนา ทั้งเว็บไซต์และแผนการตลาดต่อไป

บทสรุป

สรุปแล้ว การออกแบบเว็บไซต์ นั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องอาศัยความเข้าใจในผู้ใช้ ความคิดสร้างสรรค์ กับทักษะการพัฒนาเว็บควบคู่กันไป หลักการออกแบบเว็บไซต์ที่ดีทั้ง 10 ข้อ และขั้นตอนการออกแบบเว็บไซต์ตั้งแต่เริ่มต้น ถือเป็นแนวทางในการสร้างเว็บที่ดีต่อทั้งเจ้าของและผู้ใช้งาน เพราะแม้ว่าการออกแบบเว็บไซต์จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อทราบหลักการกับกระบวนการที่ชัดเจน ก็จะช่วยให้การพัฒนาเว็บไซต์ทำไปได้ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะออกแบบเว็บไซต์เพื่อวัตถุประสงค์อะไร คือต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นอันดับแรก ทั้งต้องพยายามเข้าใจความต้องการ และรู้พฤติกรรมการใช้งานให้ลึกซึ้งที่สุด เพื่อหาวิธีการออกแบบเว็บไซต์ให้เหมาะสม และสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ผู้ใช้พึงพอใจได้

ทำเว็บไซต์กับพวกเรา Foxbith เราช่วยคุณได้

ถ้าคุณอยากมีเว็บไซต์ที่สวยทันสมัยและใช้งานง่าย เรามีทีมงานมืออาชีพที่พร้อมช่วยตั้งแต่บริการรับออกแบบเว็บไซต์ตามทุก requirements ของคุณ ด้วยประสบการณ์ที่มากกว่า 10 ปีในวงการนี้ 

เราเน้นการออกแบบเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ลูกค้ากับผู้ใช้งานเป็นหลัก ทุกเว็บไซต์ที่เราทำจะถูกออกแบบตามหลักการที่คำนึงถึง User Experience เป็นอันดับแรก และเลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัย ให้เหมาะกับเว็บไซต์ที่คุณต้องการได้ทุกประเภท